นักวิชาการ CMMU ร่วมอุดรอยรั่ว “แก่แล้วจน”
ด้วยธุรกิจสุขภาพ ชี้ผู้ประกอบการร่วมตั้งรับได้
ด้วย 3 แนวทาง พร้อมไกด์การลดช่องว่าง
เมื่อเทรนด์ธุรกิจสุขภาพโตสวนทางกับ
กำลังซื้อผู้สูงอายุ
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU เผยแนวทางตั้งรับสังคมสูงวัยด้วยธุรกิจสุขภาพเพื่อลดสภาวะ “แก่ไปไม่จน” พร้อมเปิดแนวทางตั้งรับของธุรกิจสุขภาพในยุคที่กำลังซื้อสวนทางผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่ การส่งเสริมเทรนด์การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน การทำธุรกิจ Health & Wellness แบบองค์รวม และการเน้นทักษะการจัดการและนวัตกรรมเพื่อธุรกิจ นอกจากนี้ CMMU ยังมุ่งมั่นสร้างพื้นฐานที่ดีให้ธุรกิจสุขภาพของประเทศรวมถึงพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการด้านสุขภาพให้มีทั้งความรู้และสามารถปฏิบัติจริงได้อย่างเชี่ยวชาญ ผ่านหลักสูตรการจัดการธุรกิจสุขภาพ หรือ HBM ซึ่งผู้เรียนจะได้จุดแข็งทั้งด้านเครือข่ายองค์ความรู้ที่แข็งแกร่งและทันโลก รวมถึงรู้ทันการอุดช่องว่างธุรกิจสุขภาพในบริบทที่เปลี่ยนแปลง
ผศ.ดร. ธนพล วีราสา หัวหน้าสาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ (HBM) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยรวมถึงทั่วโลกต่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society ส่งผลให้ภาครัฐมีการดำเนินแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี 2565-2580 โดยให้ความสำคัญต่อกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งในแผนมียุทธศาสตร์สำคัญหลายประการ อาทิ การยกระดับความมั่นคงทางการเงิน และการสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และมีระบบดูแลระยะยาวและช่วงท้ายของชีวิต ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขยังกำหนดให้ปี 2566 เป็นปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นประเด็นใหญ่ที่หลาย ๆ หน่วยงานต่างให้ความสำคัญ รวมถึงสอดรับต่อเทรนด์การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งร่างกายและจิตใจของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูง และส่งผลให้ธุรกิจสุขภาพ ผลิตภัณฑ์หรือการบริการสุขภาพโตเร็ว
แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดผู้สูงอายุกำลังซื้อสูงที่เรียกว่า Silver Gen ซึ่งยอมลงทุนจ่ายสินค้าหรือบริการทางสุขภาพในราคาสูง พบว่ากระจุกแต่ไม่กระจาย ทำให้มีข้อกังวลที่จะทำอย่างไรให้กลุ่มผู้สูงอายุทั่วไทย ‘แก่ไปไม่จน’ ขณะที่รายงานจาก The Economist ปี 2566 เผยว่า หลายประเทศในแถบเอเชียกำลังเผชิญสถานการณ์ ‘แก่ก่อนรวย’ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ที่มีอัตราผู้มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 14 ของประเทศ รวมถึงรายได้ต่อคนมีน้อย (อ้างอิงข้อมูลปี 2564) เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ราว 2 แสนกว่าบาทต่อปีหรือ 2 หมื่นต่อเดือน เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นหรือประเทศอื่นๆ ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและมีรายได้มากกว่า ซึ่งถ้าหากไม่เริ่มมีการวางแผนหรือมาตรการพิเศษเพื่อดูแลประชากรผู้สูงวัยโดยเฉพาะ จะส่งผลให้ขาดแรงงานและส่งผลต่อการถดถอยของการเติบโตของประเทศในอนาคต
ผศ.ดร. ธนพล กล่าวต่อว่า การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีและแก่ไปไม่จนนั้นหากพิจารณาแล้ว มีช่องทางในการร่วมกันอุดช่องโหว่อยู่เช่นเดียวกัน CMMU ที่เป็นสถาบันการศึกษาด้านการจัดการชั้นนำของไทยได้มีการออกแบบหลักสูตรการจัดการธุรกิจสุขภาพ (Health Business Management) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับสตาร์ทอัพ ไปจนถึงระดับผู้บริหารในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพทั้งหมด ทั้งในด้าน อาหาร ที่พักอาศัย ยาและเครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถช่วยดูแลผู้คนทุกเจนเนอเรชันได้อย่างครบวงจร โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเหล่าผู้ประกอบการธุรกิจด้านสุขภาพสามารถตั้งรับและช่วยผลักดันสังคมผู้สูงอายุไทยให้ “แก่ไปไม่จน” ได้ ด้วย 3 แนวทาง ดังนี้
- ส่งเสริมเทรนด์การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน โดยปกติเรื่องสุขภาพมี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ ป้องกัน-ดูแล-รักษา แต่กลับพบว่า ‘การป้องกัน’ เป็นสิ่งที่ผู้คนยังพูดถึงและปฏิบัติได้น้อย เพราะใช้ความรู้และต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาก ซึ่งหากเน้นการส่งเสริมแนวทางป้องกันได้ดี นอกจากจะช่วยขยายให้ผู้คนกระตือรือร้นที่จะมีสุขภาพดีและใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพแล้ว ยังช่วยลดขั้นตอนการดูแลและการรักษาลดภาระของผู้ดูแล รวมถึงภาระของตนเองที่จะตามมาในอนาคตด้วย โดยกลุ่มเป้าหมายที่มีผลต่อเศรษฐกิจหลักๆ มี 2 กลุ่ม คือ วัยรุ่นวัยทำงาน และวัยเกษียณ
- ทำธุรกิจ Health & Wellness แบบองค์รวม การทำธุรกิจสุขภาพเฉพาะทางอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอแล้วต่อการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งหากพิจารณาตามสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน มักพบผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับสมอง หัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวที่ไม่สะดวกสบายจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนแพทย์ในการให้บริการอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นจุดนี้จึงเป็นช่องว่างและช่องทางแห่งโอกาสที่หากผู้ประกอบการขยายการทำธุรกิจสุขภาพแบบองค์รวมได้เพิ่มขึ้นในอนาคตก็จะทำให้กลุ่มผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการดูแลได้ง่ายด้วยค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล
- เน้นทักษะการจัดการและนวัตกรรมเพื่อธุรกิจ ผู้ประกอบการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางสุขภาพ แต่อาจยังบริหารจัดการธุรกิจไม่เก่ง ควรเน้นเสริมทักษะการจัดการ เพื่อรักษามาตรฐานการทำงานและการให้บริการอย่างปลอดภัย เช่น อันตรายที่อาจมากับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือชะลอวัยที่ขายกันทั่วไป ขณะที่การทำธุรกิจหากทำด้วยวิธี แบบดั้งเดิมอาจสามารถทำได้แค่เพิ่มจำนวนสาขาได้ในอนาคต แต่ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ฉะนั้นการคิดหาวิธีว่าจะทำธุรกิจแบบใหม่ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้นอย่างไร จึงต้องมีการนำนวัตกรรมมใช้ในการพัฒนาธุรกิจด้วย
“ความก้าวหน้าทางธุรกิจสุขภาพไม่เพียงแต่เป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายทางอ้อมให้กับผู้สูงวัยที่มีการเตรียมการเรื่องสุขภาพมาเป็นอย่างดี หรือในช่วงวัยที่มีการตั้งรับประเด็นนี้ก่อนที่รู้ว่าจะต้องเป็นประชากรสูงวัยในอนาคต สำหรับในปัจจุบันแม้ว่าภาครัฐจะเข้ามาร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงวัย แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่มีอยู่ทั้งหมด และยังไม่สามารถดำเนินการได้ในระยะยาว และหากในอนาคตต้องลงทุนกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้นอาจส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบตั้งแต่ระดับบุคคล จนถึงระดับที่ใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันผู้สูงวัยที่มีสุขภาพที่ดี นอกจากจะมีส่วนช่วยในการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีโอกาสที่จะเป็นกำลังในทางเศรษฐกิจทั้งในเชิงการเป็นแรงงาน
การเป็นผู้ประกอบการในโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่เหมาะกับบริบทสังคมได้อีกด้วย”
อย่างไรก็ตาม การมีพื้นฐานธุรกิจที่แน่นและรู้ลึกถึงขั้นตอนกระบวนการปฏิบัติงานธุรกิจนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ซึ่ง CMMU มุ่งมั่นสร้างพื้นฐานที่ดีให้ธุรกิจสุขภาพของประเทศ ทั้งด้านนวัตกรรม ระบบสารสนเทศ มาตรฐาน ความปลอดภัย รวมถึงพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการด้านสุขภาพให้มีทั้งความรู้และสามารถปฏิบัติจริงได้อย่างเชี่ยวชาญ สร้างจุดขายที่โดดเด่นผ่านหลักสูตรการจัดการธุรกิจสุขภาพ (HBM) ซึ่งผู้ที่มาเรียนส่วนใหญ่จะได้จุดแข็งด้านเครือข่าย (Network) จากทั้งมุมผู้เรียนในระดับแพทย์ หรือผู้บริหารในสถาบันสุขภาพขนาดใหญ่ และมุมผู้ให้บริการสุขภาพ (Service Provider) แถวหน้าของประเทศไทย เช่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และธุรกิจสุขภาพชั้นนำในภาคเอกชน ที่ต่างมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ และ Use Case จริงในห้องเรียน อีกทั้งด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีพื้นฐานความรู้และงานวิจัยด้าน Health Science และสุขภาพที่โดดเด่นอยู่แล้ว ซึ่งถ้าหากเสริมการนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างได้ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในอนาคต ผศ.ดร. ธนพล กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเพจเฟซบุ๊ก CMMU Mahidol (https://www.facebook.com/CMMUMAHIDOL)
No comments:
Post a Comment