CBAM สัญญาณเตือนผู้ประกอบการไทย ให้เตรียมพร้อมต่อเทรนด์ Net Zero - Bangkokfocusnews.com : ข่าวประชาสัมพันธ์ออนไลน์

Latest News 📢

Sunday 23 April 2023

CBAM สัญญาณเตือนผู้ประกอบการไทย ให้เตรียมพร้อมต่อเทรนด์ Net Zero



CBAM สัญญาณเตือนผู้ประกอบการไทย 
ให้เตรียมพร้อมต่อเทรนด์ Net Zero

แม้ไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบจาก CBAM มากนัก แต่ควรเตรียมพร้อมรับมือ เพราะ EU อาจปรับเพิ่มประเภทกลุ่มสินค้า รวมถึงเทรนด์ Net Zero จะมีบทบาทต่อไทยมากขึ้น

EU Emission Trading System คืออะไร เกี่ยวข้องกับ CBAM อย่างไร

EU Emission Trading System (EU ETS) เป็นกลไกสำคัญที่สหภาพยุโรป (EU27) นำมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการใน EU เพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้ผลิตนำเข้าสินค้า หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ไม่มีค่าใช้จ่าย/มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมน้อยในการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ (ปัญหา Carbon leakage) โดย EU มีการกำหนดให้เพดานการปล่อยคาร์บอนลดลงทุกปี และทยอยลดการให้สิทธิที่เคยอนุโลมการปล่อยคาร์บอนเพื่อให้ต้นทุนการผลิตใน EU ยังแข่งขันได้ (Free allowances) แก่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยากต่อการลดการปล่อยคาร์บอน ส่งผลให้ต้นทุนในการปล่อยคาร์บอนของผู้ผลิต EU มีแนวโน้มสูงขึ้น

EU จึงออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เพื่อให้ผู้ผลิตใน EU และผู้นำเข้าสินค้าเข้ามายัง EU แบกรับต้นทุนการปล่อยคาร์บอนอย่างเท่าเทียมกัน โดยที่ผู้นำเข้าสินค้าเข้ามายัง EU ต้องจ่ายราคาคาร์บอนผ่านการซื้อ CBAM Certificate ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตของสินค้าที่ได้นำเข้ามา โดยราคาของ Certificates นี้จะเชื่อมโยงกับราคาของ EU ETS

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2023 ที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปมีมติเห็นชอบมาตรการ CBAM ในการเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศ
การบังคับใช้มาตรการ CBAM และนัยต่อผู้ส่งออก/นำเข้า

ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไป EU มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในการเตรียมความพร้อมจนกว่ามาตรการ CBAM จะถูกบังคับใช้แบบเต็มรูปแบบในปี 2026 โดยระยะเปลี่ยนผ่านอยู่ในช่วง 1 ตุลาคม 2023 - 31 ธันวาคม 2025 ครอบคลุมถึงแค่การรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตของสินค้านำเข้า และบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2026 ที่ผู้นำเข้าต้องรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนและจ่ายค่าคาร์บอนในรูปของ CBAM Certificate โดยกลุ่มสินค้าที่เข้าเกณฑ์ CBAM ได้แก่ 1) เหล็กและเหล็กกล้า 2) อะลูมิเนียม 3) ซีเมนต์ 4) ปุ๋ย 5) กระแสไฟฟ้า และ 6) ไฮโดรเจน อย่างไรก็ดี คาดว่า EU จะขยายเกณฑ์ไปยังกลุ่มสินค้าอื่น ๆ นอกจากนี้ ข้อกำหนดต่าง ๆ ในระยะนี้ยังคงไม่ชัดเจนและอาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องจับตามองกันต่อไป

หากผู้นำเข้าไม่สามารถรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตสินค้าได้ ผู้นำเข้าอาจต้องแบกรับต้นทุนการปล่อยคาร์บอนสูงขึ้นกว่าความเป็นจริง เนื่องจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านำเข้าจะถูกอ้างอิงจากกลุ่มผู้ผลิตที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดแทน

มาตรการ CBAM กดดันให้ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกต้องมีการวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอน และหันมาพัฒนาการผลิตให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น หากผู้ผลิต/ผู้ส่งออกสินค้าไปยัง EU ไม่สามารถวัด หรือลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้ อาจเผชิญความเสี่ยงที่สินค้าเป็นที่ต้องการน้อยลง หรือถูกต่อรองราคาขายจากผู้นำเข้า
ผลกระทบจาก CBAM ต่อไทย

แม้ในเบื้องต้นไทยอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบจาก CBAM มากนัก เพราะกลุ่มสินค้า 5 กลุ่มแรกที่เข้าเกณฑ์ CBAM และส่งออกไปยัง EU นั้นเป็นส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย แต่ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมต่อเทรนด์เหล่านี้ เนื่องจาก EU อาจมีการเพิ่มประเภทกลุ่มสินค้า รวมถึงการเข้ามาของเทรนด์ Net Zero จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั่วโลกจะเข้ามามีบทบาทต่อไทยมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ โดยสามารถเริ่มจากการเก็บข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการการผลิตสินค้าแต่ละชนิด การวางแผนในการลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และปรับตัวให้พร้อมกับกฎระเบียบต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

คลิกเพื่ออ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มรูปแบบ PDF ได้ที่นี่



ผู้เขียนบทวิเคราะห์

อติกานต์ แสงวัณณ์ (atikan.saengwan@scb.co.th)
นักวิเคราะห์

พุธิตา แย้มจินดา (puthita.yamchinda@scb.co.th)
นักวิเคราะห์


CLIMATE, TRANSFORMATION, AND SUSTAINABILITY

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Bangkokfocusnews.com ข่าวออนไลน์