รายงานฉบับใหม่ชี้มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คน 8.1 ล้านคนทั่วโลกในปี 2564 และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ของการเสียชีวิตทั่วโลก รวมถึงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี - Bangkokfocusnews.com : ข่าวประชาสัมพันธ์ออนไลน์

Latest News 📢

Friday 21 June 2024

รายงานฉบับใหม่ชี้มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คน 8.1 ล้านคนทั่วโลกในปี 2564 และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ของการเสียชีวิตทั่วโลก รวมถึงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี




รายงานฉบับใหม่ชี้มลพิษทางอากาศคร่าชีวิต
ผู้คน 8.1 ล้านคนทั่วโลกในปี 2564 และกลายเป็น
ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ของการเสียชีวิตทั่วโลก 
รวมถึงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

รายงานฉบับนี้นำเสนอรายละเอียดผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ
ซึ่งกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของประชากรโลกแซงหน้าการสูบบุหรี่และการกินไม่ดี

บอสตัน/นิวยอร์ก: 19 มิถุนายน 2567 – รายงานสภาวะอากาศโลกฉบับที่ 5 (State of Global Air -SoGA) เปิดเผยวันนี้ว่า มลพิษทางอากาศกำลังส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์ และได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่สองต่อการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก

รายงานนี้เผยแพร่โดย Health Effects Institute (HEI) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอิสระที่ไม่แสวงหากำไรในสหรัฐฯ พบว่า ในปี 2564 มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนถึง 8.1 ล้านคนทั่วโลก และอีกหลายล้านคนต้องเผชิญกับโรคเรื้อรัง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม

รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยร่วมมือกับยูนิเซฟเป็นครั้งแรก และพบว่าเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีมีความเปราะบางต่อมลพิษทางอากาศเป็นพิเศษ โดยส่งผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย โรคหอบหืด และโรคปอด รายงานชี้ว่า ในปี 2564 มลพิษทางอากาศเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีมากกว่า 700,000 คน และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่สองของการเสียชีวิตของเด็กกลุ่มอายุนี้ทั่วโลก รองจากภาวะทุพโภชนาการ โดยการเสียชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ประมาณ 500,000 คนเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศภายในครัวเรือน ซึ่งเกิดจากการทำอาหารภายในบ้านโดยใช้เชื้อเพลิงที่ก่อมลพิษ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชีย

ปัญหาสุขภาพระดับโลก

รายงาน SoGA ฉบับนี้ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาภาระโรคทั่วโลก (Global Burden of Disease study) ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามลพิษ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5), มลพิษทางอากาศภายในครัวเรือน, โอโซน (O3) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) กำลังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ทั่วโลก รายงานได้รวบรวมข้อมูลในกว่า 200 ประเทศและเขตแดนทั่วโลก ซึ่งบ่งชี้ว่าในทุก ๆ วันมนุษย์เกือบทุกคนบนโลกกำลังหายใจเอามลพิษทางอากาศในระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพเข้าไป ซึ่งกระทบต่อสุขภาพอย่างมหาศาล

กว่าร้อยละ 90 ของการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั่วโลก หรือประมาณ 7.8 ล้านคน มีสาเหตุมาจาก PM 2.5 ซึ่งรวมถึงจาก PM 2.5 ภายนอกและภายในครัวเรือน อนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้เล็กมากจนยังคงอยู่ในปอดและสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ และส่งผลกระทบต่อระบบอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อในผู้ใหญ่ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็งปอด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รายงานยังระบุว่า PM2.5 เป็นตัวบ่งชี้ที่แม่นยำและชัดเจนที่สุดในการคาดการณ์ปัญหาสุขภาพของประชากรทั่วโลกในอนาคต

"เราหวังว่ารายงาน State of Global Air นี้จะเป็นข้อมูลที่สร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลง" ดร. เอเลนา คราฟต์ ประธาน HEI กล่าว "มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมหาศาล เรารู้ดีว่าการปรับปรุงคุณภาพอากาศและการสาธารณสุขทั่วโลกเป็นสิ่งที่ต้องทำและสามารถทำให้สำเร็จได้"

มลพิษทางอากาศกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและชีวมวลในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การคมนาคม บ้านพักอาศัย โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน อุตสาหกรรม และไฟป่า การปล่อยมลพิษเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้โลกร้อนขึ้นอีกด้วย โดยประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางอากาศ

ในปี 2564 การสัมผัสกับโอโซนเป็นระยะเวลานานส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 489,518 คนทั่วโลก รวมถึงการเสียชีวิตของประชากร 14,000 คนในสหรัฐอเมริกาจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับโอโซน ซึ่งสูงกว่าประเทศที่มีรายได้สูงอื่น ๆ ในขณะที่อุณหภูมิโลกกำลังสูงขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ที่มีระดับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์สูงมักจะมีระดับโอโซนที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้นอีก

นับเป็นครั้งแรกที่รายงานครั้งนี้ระบุข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งรวมถึงการเกิดโรคหอบหืดในเด็ก แหล่งสำคัญของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มาจากไอเสียจากการจราจรเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่าเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้สูง มักเผชิญกับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับที่สูงมาก พร้อมกับปัญหาด้านสุขภาพของประชากรที่ตามมา

"รายงานฉบับใหม่นี้เป็นเครื่องตอกย้ำว่ามลพิษทางอากาศกำลังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง มักจะเป็นผู้แบกรับผลกระทบเหล่านั้นอย่างรุนแรง" ดร. ปัลวี พันท์ กล่าว หัวหน้าฝ่ายสุขภาพทั่วโลกของ HEI กล่าว "ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศและเมืองใหญ่คำนึงถึงคุณภาพอากาศและมลพิษทางอากาศ และพิจารณาประเด็นเหล่านี้ในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ ตลอดจนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ"

สุขภาพของเด็ก

มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กอย่างรุนแรง เนื่องจากเด็กมีความเปราะบางต่อมลพิษทางอากาศเป็นพิเศษ และผลกระทบนั้นสามารถเริ่มต้นตั้งแต่ในครรภ์และส่งผลตลอดชีวิต ตัวอย่างเช่น เด็กหายใจรับอากาศมากกว่าผู้ใหญ่เมื่อเทียบต่อน้ำหนักตัว และดูดซับสารมลพิษมากกว่าผู้ใหญ่ ในขณะที่ปอด ร่างกาย และสมองยังคงเจริญเติบโตไม่เต็มที่

การสัมผัสมลพิษทางอากาศในเด็กเล็กมีความเชื่อมโยงกับโรคปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็ก 1 ใน 5 คนทั่วโลก รวมถึง โรคหอบหืด ซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็กโต ผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพของเด็กเป็นเรื่องที่น่าตกใจ อัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีในแอฟริกาตะวันออก ตะวันตก กลาง และใต้ สูงกว่าเด็กในประเทศที่มีรายได้สูงถึง 100 เท่า

แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าในด้านสุขภาพของแม่และเด็ก แต่ในแต่ละวันยังคงมีเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเกือบ 2,000 คนที่เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ" คิตตี้ ฟาน เดอร์ ไฮเดน รองผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟ กล่าว "การเพิกเฉยของเรากำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อคนรุ่นต่อไป โดยส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ตลอดชีวิตของพวกเขา นี่คือความเร่งด่วนของโลกที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ รัฐบาลและภาคธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อมูลเหล่านี้รวมถึงข้อมูลที่มีอยู่ในประเทศ และใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาที่มุ่งเน้นการลดมลพิษทางอากาศและการปกป้องสุขภาพของเด็ก ๆ"

ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น

รายงาน SoGA มีข่าวดีเช่นกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีลดลงร้อยละ 53 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเข้าถึงเชื้อเพลิงสะอาดในการทำอาหาร ตลอดจนการเข้าถึงการรักษาพยาบาล โภชนาการ และความตระหนักรู้ถึงอันตรายจากการสัมผัสมลพิษทางอากาศภายในครัวเรือน

หลายประเทศกำลังแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเทศที่กำลังเผชิญมลพิษทางอากาศรุนแรง การปรับปรุงคุณภาพอากาศในภูมิภาคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชีย เช่น การติดตั้งระบบตรวจสอบมลพิษทางอากาศ, การดำเนินนโยบายคุณภาพอากาศที่เข้มงวดขึ้น หรือการลดมลพิษทางอากาศโดยการเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ไฮบริดหรือไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม แม้ภาคส่วนต่าง ๆ กำลังวัดความก้าวหน้าเหล่านั้น แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อหยุดยั้งมลพิษทางอากาศและไม่ให้มลพิษทางอากาศกลายเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อชีวิตของมนุษย์ทั่วโลก

ภาพและเครดิตภาพ

UNICEF 01 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เด็ก ๆ กำลังเข้าแถวหน้าโรงเรียน UNICEF Thailand/2020/Preechapanich

UNICEF 04: เด็กชายพื้นที่ห่างไกลของจังหวัดเชียงราย UNICEF Thailand/2024/Phutpheng

รายงานสภาวะอากาศโลก State of Global Air 2024 ฉบับเต็ม

ข้อมูลเพิ่มเติมในรายงาน State of Global Air

ข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและสุขภาพของเด็ก

ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเด็ก

ดาวน์โหลดภาพและวิดีโอ https://weshare.unicef.org/Package/2AM40844AKHR

มลพิษทางอากาศกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับสองของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกและในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่


ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตทั่วโลก

อันดับ

ประชากรโลก

เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี

1

ความดันโลหิตสูง

ภาวะทุพโภชนาการ

2

มลพิษทางอากาศ

มลพิษทางอากาศ

3

บุหรี่

การขาดแคลนน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย

4

การกินไม่ดี

อุณหภูมิสูงหรือต่ำไป

5

ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

บุหรี่

 

 

 

 

 


รายงานสภาวะอากาศโลก (State of Global Air) นี้จัดทำขึ้นโดย State of Global Air Initiative ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Health Effects Institute และ the Institute for Health Metrics ภายใต้โครงการ Global Burden of Disease ซึ่งร่วมมือกับยูนิเซฟ

รายงานนี้อิงข้อมูลจากการศึกษา Global Burden of Diseases, Injuries and Risk Factors Study (GBD 2021) ของ Institute for Health Metrics and Evaluation ซึ่งเป็นการร่วมมือของนักวิจัยมากกว่า 10,000 คนทั่วโลกที่จัดทำการประมาณการผลกระทบทางสุขภาพจากปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม พฤติกรรม และอาหารใน 204 ประเทศและเขตแดนทั่วโลก

การรายงานความคืบหน้าแต่ละครั้ง GBD Study จะรวบรวมหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และวิธีการล่าสุดเพื่อปรับการประมาณการภาระโรค หรือผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพของประชากร รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ทั้งนี้ ข้อมูลที่นำเสนอในรายงานนี้เป็นการประมาณการทั่วโลก ซึ่งอิงจากหลากหลายชุดข้อมูลที่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นชุดข้อมูลของรัฐบาลของแต่ละประเทศที่ส่งให้หน่วยงานสหประชาชาติ การประมาณการทั้งหมดของ GBD ผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างเข้มงวดและข้อมูลได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet

เกี่ยวกับ State of Global Air

State of Global Air เป็นโครงการวิจัยและการเผยแพร่เพื่อให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับคุณภาพอากาศทั่วโลก เป็นความร่วมมือระหว่าง Health Effects Institute และ Institute for Health Metrics and Evaluation's Global Burden of Disease project โดยโครงการนี้ให้ประชาชน ผู้สื่อข่าว ผู้กำหนดนโยบาย และนักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพสูงและเป็นกลางเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ ข้อมูลและรายงานทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณะ

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.stateofglobalair.org

ติดตาม SoGA บน Twitter, YouTube, and Facebook

เกี่ยวกับ Health Effects Institute

Health Effects Institute (HEI) เป็นสถาบันวิจัยอิสระและไม่แสวงหาผลกำไรที่ได้รับทุนสนับสนุนร่วมกันระหว่าง U.S. Environmental Protection Agency, ภาคอุตสาหกรรม และมูลนิธิต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ด้านมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจเรื่องการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของอากาศ

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.healtheffects.org ติดตาม HEI บน Twitter, YouTube, และ LinkedIn

เกี่ยวกับ IHME

IHME เป็นองค์กรวิจัยอิสระด้านสุขภาพของประชากรของ University of Washington School of Medicine โดยทำงานร่วมกับภาคีทั่วโลกเพื่อจัดทำข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสุขภาพของประชากรทั่วโลก

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.healthdata.org

เกี่ยวกับยูนิเซฟ

ยูนิเซฟปฏิบัติงานในพื้นที่ ๆ เข้าถึงยากที่สุดในโลกเพื่อเข้าถึงเด็กที่เปราะบางที่สุด โดยดำเนินงานในกว่า 190 ประเทศและเขตแดนทั่วโลก ยูนิเซฟทำงานเพื่อเด็กทุกคนและในทุกที่ เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าสำหรับทุกคน

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.unicef.org ติดตามยูนิเซฟ บน Twitter, Facebook, Instagram and YouTube

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Bangkokfocusnews.com ข่าวออนไลน์