CFO Trilemma ความท้าทายของ CFO ในการจัดการความผันผวน การสร้างคุณค่า และ การเปลี่ยนแปลงขีดความสามารถ - Bangkokfocusnews.com : ข่าวประชาสัมพันธ์ออนไลน์

Latest News 📢

Thursday, 17 October 2024

CFO Trilemma ความท้าทายของ CFO ในการจัดการความผันผวน การสร้างคุณค่า และ การเปลี่ยนแปลงขีดความสามารถ




CFO Trilemma ความท้าทายของ CFO
ในการจัดการความผันผวน การสร้างคุณค่า และ 
การเปลี่ยนแปลงขีดความสามารถ

ศมกฤต กฤษณามระ, พาร์ทเนอร์ บริการด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยง และธุรกรรมรายการ ดีลอยท์ ประเทศไทย

ดร. โชดก ปัญญาวรานันท์, ผู้จัดการอาวุโส Clients & Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย


ความผันผวนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ความแปรปรวนทางเศรษฐกิจ และ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ถือเป็นเพียงแรงผลักดันบางส่วนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเวทีธุรกิจ สำหรับประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน หรือ CFO แล้ว การขับเคลื่อนองค์กรในสภาพแวดล้อมที่มีพลวัตสูงนี้ต้องการทักษะในการรักษาสมดุลอย่างละเอียดอ่อน และการจัดลำดับความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ที่เราเรียกว่า CFO Trilemma ซึ่งประกอบไปด้วย
  • การเผชิญกับความผันผวน ความสามารถในการฟันฝ่าพายุเศรษฐกิจและใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
  • สร้างคุณค่าระยะยาว มุ่งเน้นการสร้างธุรกิจที่ไม่เพียงแต่คำถึงผลกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความรับผิดชอบ ซึ่งจะสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างขึ้น
  • ยกระดับขีดความสามารถ เสริมสร้างความสามารถให้กับทีมการเงิน ทั้งทักษะและเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับความท้าทายและการเติบโตในยุคดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

บทความนี้ศึกษาเจาะลึกในแต่ละองค์ประกอบของ CFO Trilemma โดยดีลอยท์ได้ทำการสำรวจ CFO จำนวน 46 ท่าน จากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม ร่วมกับการสัมภาษณ์ CFO รายบุคคลอีก 15 ท่าน และสรุปมาเป็นแนวปฏิบัติสำหรับ CFO ที่ต้องการนำองค์กรของตนไปสู่อนาคตที่เติบโตและยั่งยืน

เผชิญหน้ากับพายุ : แนวทางเชิงรุกในการจัดการความผันผวน

CFO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตระหนักถึงกระแสทางเศรษฐกิจที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรงทั่วภูมิภาค แต่แทนที่จะยอมจำนน CFO กลับเลือกการทำงานเชิงรุกอย่างรอบคอบ โดยร้อยละ 37 ของ CFO ยังคงมองแนวโน้มเศรษฐกิจในเชิงบวก และ ร้อยละ 50 ของ CFO มองโอกาสทางการเงินของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้าในเชิงบวกด้วยเช่นกัน

เพื่อความอยู่รอด CFO ต้องมีความเข้าใจพลวัตภายนอกอย่างลึกซึ้ง โดยความเสี่ยงภายนอก 3 อันดับแรกที่ CFO ให้ความสนใจเป็นพิเศษ ประกอบไปด้วย ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ร้อยละ 80 ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ร้อยละ 63 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ร้อยละ 41

ในฐานะผู้นำเชิงรุก CFO ควรมีการเตรียมพร้อมที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
  • กำหนดฉากทัศน์เพื่อรับมือกับอาร์มาเกดดอน พัฒนาแบบจำลองทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยผสมผสานการทดสอบภาวะวิกฤตและฉากทัศน์กรณีที่เลวร้ายที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่ามีกระแสเงินสดที่มากพอ และ ใช้แบบจำลองเป็นแนวทางในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์
  • ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพิ่มความพยายามในการลดต้นทุนอย่างจริงจัง โดยพิจารณาทุกรายละเอียดในงบการเงิน และมองหาวิธีใหม่ ๆ ในการเพิ่มรายได้
  • การกระจายความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ สำรวจตลาด ผลิตภัณฑ์ และ และช่องทางการหารายได้ใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง หรือ ผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งมากเกินไป

เหนือกว่าผลกำไร : กำหนดคุณค่าใหม่ ๆ

บทบาทของ CFO ยกระดับไปไกลกว่าการบริหารการเงินอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา ร้อยละ 78 ของ CFO ระบุว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทเพื่อรองรับความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นของทีมบริหาร โดยร้อยละ 78 กล่าวว่า CFO ต้องรับบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลง และ ร้อยละ 61 ระบุว่า CFO มีหน้าที่รับผิดชอบใหม่ ๆ ที่ต้องดูแล

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการให้ธุรกิจเพิ่มความสำคัญกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ การกำกับดูแล (ESG) และ แสดงความมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าในระยะยาว ไม่เพียงสำหรับผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ร้อยละ 96 ของ CFO ให้ความเห็นว่าพวกเขามีกระบวนการ/แผนการที่เพียงพอเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ ในด้าน ESG โดยร้อยละ 89 พร้อมหรือเตรียมพร้อมในระดับหนึ่งในการจัดการด้านความยั่งยืน และ ร้อยละ 76 คาดว่าจะเห็นกฎระเบียบใหม่ ๆ ด้าน ESG ในช่วง 2-5 ปี ที่จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับการรายงานด้านการเงินของบริษัทด้วย

การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ CFO ต้องมีแนวปฏิบัติต่าง ๆ ดังนี้
  • เป็นผู้สนันสนุนและผลักดันการริเริ่มโครงการด้าน ESG โดยมีบทบาทเชิงรุกในการพัฒนาและดำเนินกลยุทธ์ด้าน ESG ที่แข็งแกร่ง สร้างความโปร่งใสในการรายงานข้อมูล และ สำรวจนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ
  • ยอมรับมุมมองที่หลากหลายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่มุ่งเน้นผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ไปสู่การพิจารณาความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่กว้างขึ้นรวมถึงพนักงาน ลูกค้า ผู้จัดหา และ สังคมโดยรวม
  • คิดใหม่เกี่ยวกับการวัดประสิทธิภาพ รวมตัวชี้วัดด้าน ESG และ ตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนให้เข้ากับระบบการจัดการประสิทธิภาพและบาลานซ์สกอร์ เพื่อขับเคลื่อนความรับผิดชอบและวัดคุณค่าในระยะยาว

องค์ประกอบด้านทุนมนุษย์ : บุคลากรเป็นกลยุทธ์ธุรกิจที่สำคัญ

CFO ตระหนักว่าการดึงดูด รักษา และ พัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรสามารถฝ่าฟันความซับซ้อนของการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ ร้อยละ 63 ของ CFO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลือกใช้การพัฒนาประสบการณ์การทำงานบนการทำงานจริง ร้อยละ 63 เน้นการใช้โปรแกรมรางวัลและยกย่องพนักงาน และ ร้อยละ 52 ใช้โปรแกรมพี่เลี้ยงหรือโครงการสนับสนุนอื่น ๆ

แนวปฏิบัติสำคัญสำหรับ CFO ในมิตินี้ ได้แก่การดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ จัดการกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นของการขาดแคลนบุคลากรโดยเสนอแพ็คเกจค่าตอบแทนที่แข่งขันได้ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นบวก รวมถึงสนับสนุนและมอบโอกาสสำหรับการเติบโตในสายอาชีพ
การยกระดับและฝึกอบรมบุคลากร เสริมทักษะที่จำเป็นเพื่อการเติบโตในอนาคตให้กับทีมการเงิน ลงทุนในโปรแกรมการฝึกอบรมที่เน้นด้านการวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ รวมถึงเรื่อง Generative AI
การส่งเสริมการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล สนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลและการใช้เทคโนโลยีในทีมการเงิน ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการตัดสินและการตีความของบุคลากรในการขับเคลื่อนข้อมูลเชิงลึกและการตัดสินใจ

สิ่งที่ CFO สามารถนำไปใช้ได้จากเรื่องนี้

รายงาน CFO Trilemma ได้นำเสนอความท้าทายและโอกาสสำหรับ CFO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เลือกแนวทางเชิงรุกต่อความผันผวน การกำหนดคุณค่าใหม่ที่เหนือกว่าผลกำไร และ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคคลกร เพื่อให้ CFO สามารถกำหนดตำแหน่งองค์กรของตนเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืนต่อ ๆ ไป

เราได้รวบรวมคำถามที่เป็นประโยชน์ในการประเมินกลยุทธ์ปัจจุบันของทุกองค์กร ดังนี้
  • ท่านมีการเตรียมพร้อมอย่างเพียงพอในการขับเคลื่อนองค์กรในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ผันผวนหรือไม่
  • ท่านสามารถสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการทำกำไรระยะสั้นกับการสร้างคุณค่าระยะยาวสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
  • ท่านกำลังลงทุนในการพัฒนาบุคลากร และ เตรียมความพร้อมด้วยทักษะที่จำเป็นเพื่อการเติบโตในอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลหรือไม่

ด้วยการประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กรของคุณในแต่ละด้าน CFO จะสามารถพัฒนาแผนงานเพื่อรับมือกับความท้าทายของบทบาทนี้ และนำองค์กรไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Bangkokfocusnews.com ข่าวออนไลน์