ศิริราช ผนึก MIT จัด Hackathon ค้นหา
โซลูชั่นดูแลสุขภาพผู้สูงอายุครั้งแรกใน
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผ่านแคมเปญ ‘Siriraj x MIT Hacking
Medicine’ หัวข้อ ‘Scaling Aged Care
in Developing Countries’
ในภาพจากซ้าย:
1. ศ. ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช
2. ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
3. ศ. เซน ชู (Prof. Zen Chu) ผู้อำนวยการ MIT Hacking Medicine Initiative และ Harvard-MIT Health Sciences & Technology Program
กรุงเทพฯ ประเทศไทย – คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) จัดตั้งโครงการ ‘Siriraj x MIT Hacking Medicine’ ภายใต้หัวข้อ ‘Scaling Aged Care in Developing Countries’ พร้อมเตรียมจัดการแข่งขัน Hackathon (แฮ็กกาธอน) ครั้งใหญ่ในไทย เปิดเวทีระดมไอเดียค้นหาสุดยอดนวัตกรรม สู่โซลูชั่นอย่างยั่งยืนของการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในวันที่ 29 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2567 นี้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ 2 สถาบันผู้นำระดับนานาชาติ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “Siriraj x MIT Hacking Medicine” ภายใต้หัวข้อ ‘Scaling Aged Care in Developing Countries’ ณ ห้องประชุมสิรินธร ชั้น G อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ ท่ามกลางสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศ. ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และ ศ. เซน ชู (Prof. Zen Chu) ผู้อำนวยการ MIT Hacking Medicine Initiative และ Harvard-MIT Health Sciences & Technology Program ร่วมให้ข้อมูลความร่วมมือครั้งสำคัญ พร้อมถกปัญหาผู้สูงอายุ หนึ่งในปัญหาใหญ่ระดับโลกในปัจจุบันและอนาคต
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมาพร้อมกับปัญหาหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุทั้งร่างกายและจิตใจ ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ ไปจนถึงปัญหาการดูแลผู้สุงอายุที่ยังไม่ทั่วถึง การแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน จึงเป็นสิ่งที่สังคมควรตระหนักถึงมากที่สุด เพื่อหาวิธีรับมือสังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นพัฒนาโครงการและงานวิจัยมากมาย เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหานี้ รวมถึงโครงการล่าสุดบนความร่วมมือกับ “MIT” สถาบันเทคโนโลยีที่ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของศิริราช ที่อยากขยายความร่วมมือให้ประชาชนและสังคมได้ตระหนักถึงปัญหานี้ และร่วมกันนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาทำให้ปัญหาผู้สุงอายุมีการแก้ไขมากขึ้น
“การร่วมเมือกับ MIT ครั้งนี้ นับเป็นการยกระดับการแก้ไขปัญหาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีประสิทธิภาพและขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่อยู่เพียงแต่ในวงการแพทย์ แต่ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการระดมความคิดและการสนับสนุนในสหสาขา ทุกวิชาอาชีพ ที่จะมาร่วมกันสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อเนื่องไปในอนาคต เพื่อให้ผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลอย่างครบวงจร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ ล้วนมีพลัง มีจินตาการการสร้างสรรค์ มีความรู้และทักษะความสามารถ ผนวกรวมกับวิทยาการของ MIT จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ มากมายให้กับผู้คนและสังคมของเรา นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ ยังจะสร้างแรงบันดาลใจ แรงผลักดัน และเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้โชว์ศักยภาพบนเวทีระดับนานาชาติอีกด้วย“ ศ.นพ.อภิชาติ กล่าว
โครงการ ‘Siriraj x MIT Hacking Medicine’ ภายใต้หัวข้อ ‘Scaling Aged Care in Developing Countries’ ประกอบด้วยงานประชุมวิชาการซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2567 โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ สตาร์ทอัพ และกลุ่มนักลงทุนหลากหลายอุตสาหกรรมมาร่วมเป็นวิทยากรบรรยาย ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุในแง่มุมต่าง ๆ และร่วมกันถกปัญหาสู่โซลูซั่นที่ยั่งยืน อาทิ ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (โรงพยาบาลศิริราช), ดร. ธนเดช ช่วงสุวรรณิชย์ (Singapore-MIT Alliance), ผศ.ดร. ทีรนีย์ เทศศรีวิชัย (WHO, ประเทศไทย), Prof. Deborah Lucas (Former Chief Economist of US Congress), Prof. Zen Chu (MIT-Harvard), Dr. Fredy Nguyen (MIT | Mt Sinai | Mass General), Hesong Tang (Xiang He Capital, Beijing), Carmen Yuen (Temasak backed VC) และ Dorathea Koh (Y Combinator Alumni)
ต่อด้วยการระดมไอเดียเพื่อคิดค้นสุดยอดนวัตกรรมที่จะจัดขึ้นในงาน ‘Siriraj x MIT Hacking Medicine’ ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 งาน Hackathon ครั้งใหญ่ในประเทศไทย ที่ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการระดมไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้การทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อพัฒนานวัตกรรมเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชนทั่วไปที่มีไอเดียในการพัฒนาการดูแลสุขภาพ ทั้งในด้าน วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ การออกแบบ การจัดการนโยบาย และการจัดการธุรกิจ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับ “Golden Tickets” เพื่อเข้าร่วม ‘MIT Grand Hack 2025’ ที่จะจัดขึ้นที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ศ. ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวถึง การแข่งขัน “Hackathon” ระดมไอเดียสู้ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนา ณ กรุงเทพมหานคร ว่า “การจัด Hackathon ของศิริราชบนร่วมมือกับ MIT ถือเป็นครั้งแรกในอาเซียนที่มีการจัดโครงการรวบรวมสุดยอดความคิดเพื่อสร้างสรรค์แนวทางการดูแลผู้สูงอายุ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเราเชื่อว่า ความร่วมมือสำคัญครั้งนี้จะต่อยอดไปสู่การแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่เราอยากเห็น คือการขยายวงกว้างของการแก้ไขปัญหา ไม่อยากให้อยู่แค่ในวงการแพทย์ เพื่อร่วมกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สู่โซลูชั่นในรูปแบบนวัตกรรมที่จับต้องได้ ใช้ได้ในระดับชุมชนท้องถิ่น และผลักดันให้เกิด Hackathon การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ แบบนี้ต่อไปอย่างยั่งยืนในอนาคต”
ด้าน ศ. เซน ชู (Prof. Zen Chu) ผู้อำนวยการ MIT Hacking Medicine Initiative และ Harvard-MIT Health Sciences & Technology Program กล่าวว่า “MIT ไม่ได้เป็นสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์ แต่เรามีความเชี่ยวชาญด้านวิศกรและเทคโนโลยี เราประสบความสำเร็จอย่างมากจากโครงการ ‘MIT Hacking Medicine’ ได้จัดการแข่งขัน Hackathon มามากกว่า 200 ครั้งในกว่า 30 ประเทศ และสามารถก่อตั้งบริษัทมากกว่า 100 แห่งในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาและได้รับเงินทุนสนับสนุนโครงการมากกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้น เรายังพัฒนาโซลูชั่นที่เกิดขึ้นจากการระดมไอเดีย ให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของชุมชนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่อีกด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยี (device) สำหรับผู้สูงอายุ การร่วมมือกับศิริราชนั้น จะยิ่งทำให้เราไปถึงเป้าหมายของ MIT Hacking Medicine ได้อีกเท่าตัว โดยเราจะถ่ายทอดวิทยาการเหล่านี้ให้แก่ศิริราช เพื่อร่วมมือสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”
ผู้ที่สนใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสุดยอดการประชุม ‘Siriraj x MIT Hacking Medicine’ หัวข้อ ‘Scaling Aged Care in Developing Countries’ หรือเข้าร่วมการแข่งขัน Hackathon สมัครได้แล้วทางเว็บไซต์ www.SirirajxMITHackingMedicine.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางอีเมล SirirajxMITHackMed@gmail.com
เกี่ยวกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีปณิธานที่จะผลิตบัณฑิต ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขและค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้และวิทยาการอย่างต่อเนื่อง โดยยึดประโยชน์สุขของประชาชนทุกระดับเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด บนเป้าหมมาย “ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ” และวิสัยทัศน์ “สถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน ที่สร้างองค์ความรู้และบริการอันเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพระดับโลก” โดยมีพันธกิจสำคัญดังนี้ จัดการศึกษาและฝึกอบรม เพื่อผลิตบัณฑิต บุคลากรด้านสุขภาพ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ตอบสนองต่อความต้องการในอนาคต ให้บริการทางการแพทย์และการสร้างเสริมสุขภาวะโดยเน้นระดับตติยภูมิ เพื่อเป็นต้นแบบของระบบบริการสุขภาพ และวิจัยสร้างนวัตกรรม เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ด้านสุขภาพและการศึกษา ด้วยการบูรณาการพันธกิจ เพื่อดำเนินการให้มีคุณภาพ คุณธรรม ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล นำมาซึ่งศรัทธาและความนิยมสูงสุดจากประชาชน รวมทั้งเป็นสถาบันหลักในการชี้นำสังคมไทยและนานาชาติ ในด้านสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิต
เกี่ยวกับ MIT Hacking Medicine
โครงการ ‘MIT Hacking Medicine’ ได้จัดการแข่งขัน Hackathon มามากกว่า 200 ครั้งในกว่า 30 ประเทศ และสามารถก่อตั้งบริษัทมากกว่า 100 แห่งในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาและได้รับเงินทุนสนับสนุนโครงการมากกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ อดีตนักศึกษาดีเด่นได้แก่ www.pillpack.com (Amazon ซื้อกิจการในราคา 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ), www.rubiconmd.com ( Oak Street Health ซื้อกิจการในราคา 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ), และ www.overjet.ai (ได้รับเงินทุน 27 ล้านดอลลาร์จากบริษัท General Catalyst)
โครงการ ‘MIT Hacking Medicine’ ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรและบริษัทชั้นนำหลายแห่ง อาทิ The Kauffman Foundation, Massachusetts General Hospital, Emergency Nurses Association, Pfizer, Microsoft, Samsung, GE, Merck, และ AthenaHealth นอกจากนี้โครงการยังเคยให้สัมภาษณ์แก่สื่อชั้นนำหลายสำนัก อาทิ SXSW, The Wall Street Journal, Slate, และ Wired
No comments:
Post a Comment