บพท. จับมือ มหาวิทยาลัย ชู ซอฟต์ พาวเวอร์ ผ่านมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง พร้อมเปิดตัวระบบฐานข้อมูลและแผนที่วัฒนธรรม - Bangkokfocusnews.com : ข่าวประชาสัมพันธ์ออนไลน์

Latest News 📢

Saturday 4 February 2023

บพท. จับมือ มหาวิทยาลัย ชู ซอฟต์ พาวเวอร์ ผ่านมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง พร้อมเปิดตัวระบบฐานข้อมูลและแผนที่วัฒนธรรม



บพท. จับมือ มหาวิทยาลัย ชู ซอฟต์ พาวเวอร์ 
ผ่านมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง พร้อมเปิดตัวระบบฐานข้อมูลและแผนที่วัฒนธรรม หวัง
หยั่งรากสำนึกท้องถิ่นและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ 33 จังหวัด 41 สถาบัน หนุนเสริมพลังโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมภาคีเครือข่ายชุมชน ท้องถิ่น ศิลปิน และผู้ประกอบการวัฒนธรรม เดินหน้าจัดงาน"มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง" 4 ภูมิภาค ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาสู่ซอฟต์ พาวเวอร์ จัดแสดงในงาน เพื่อหยั่งรากสำนึกท้องถิ่นและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมศิลปินและผู้ประกอบการวัฒนธรรม พร้อมโชว์ระบบฐานข้อมูลและแผนที่วัฒนธรรมของประเทศไทย เป็นแหล่งรวมสืบค้นต้นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

"มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง 4 ภูมิภาค" สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย บพท. เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมและขยายผลการรับรู้ในวงกว้างถึงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมจาก "คุณค่าสู่มูลค่า" ทางเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการออกร้านจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการวัฒนธรรม สาธิตและอบรมงานฝีมือ การแสดงของศิลปินท้องถิ่น นิทรรศการผลงานวิจัย แฟชั่นโชว์ การเสวนาระหว่างภาคีเครือข่าย พร้อมเปิดตัวแผนที่วัฒนธรรมของประเทศไทย (Cultural Map Thailand) ที่เชื่อมโยง 2,621 ชุดข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมไว้ที่ www.culturalmapthailand.info ซึ่งจะพัฒนาไปสู่ระบบสารสนเทศ Cultural Atlas of Thailand ในอนาคตอันใกล้ และเชื่อมโยงไปสู่ ระบบจักรวาลนฤมิตรแผนที่วัฒนธรรมของประเทศไทย (Cultural Metaverse Thailand) ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโดยโครงการวิจัยและจะเป็นระบบฐานข้อมูลด้านทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า บพท. เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการสนับสนุนทุนวิจัย สำหรับการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมภายใต้กรอบการวิจัย "มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่" มีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดสรรทุนทั้งสิ้น 48 โครงการ กระจายใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ และมีผลการดำเนินงานที่มีสัมฤทธิผลชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม คนตกงานคนคืนถิ่นจากผลกระทบของ COVID-19 และผู้สูงวัยมีงานทำ ลดช่องว่างระหว่างวัย คนรุ่นใหม่ตระหนักในคุณค่าของทุนทางวัฒนธรรม เยาวชนมีโอกาสในด้านอาชีพและสร้างรายได้ ยกระดับรายได้ของผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เกิดการกระจายรายได้สู่เมืองรอง และชุมชนมีพื้นที่แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ด้วยผลลัพธ์เหล่านี้จากโครงการวิจัย บพท. เล็งเห็นว่าการสร้างการรับรู้ของสาธารณะต่อการสนับสนุนให้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นองคาพยพในการพัฒนาพื้นที่ จะนำมาซึ่งความเข้มแข็งของชุมชนในหลากหลายมิติ การจัด "มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่" ใน 4 ภูมิภาค จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ชุมชน ท้องถิ่น ศิลปินพื้นบ้าน ช่างฝีมือท้องถิ่น ผู้ประกอบการวัฒนธรรม ภาคีเครือข่ายและมหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาพื้นที่จากฐานทุนทางวัฒนธรรมได้จัดแสดงและเฉลิมฉลองอัตลักษณ์ศักดิ์และศรีของทุนทางวัฒนธรรมในงานมหกรรมนี้ และเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมนำเสนอและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมอันเป็นผลผลิตจากงานวิจัยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมเปิดตัว Cultural Map Thailand ที่จะพัฒนาไปสู่ Cultural Atlas of Thailand และตัวอย่าง Cultural Metaverse Thailand ที่ 48 โครงการวิจัยกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ขับเคลื่อนและประสานงานโครงการ

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถาน "ธัชภูมิ" เพื่อการพัฒนาพื้นที่ บุคคลสำคัญผู้ริเริ่มการพัฒนาพื้นที่ผ่านฐานทุนทรัพยากรด้านวัฒนธรรม กล่าวว่าทุนทางวัฒนธรรมถือเป็น "ขอบฟ้าใหม่ของการพัฒนาประเทศ" การฟื้นใจเมืองคือการสนับสนุนให้ทุนทางวัฒนธรรมทั้งที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษหรือที่เป็นวิถีชีวิตที่ดำเนินมายาวนานเป็นฐานทุนที่มีอยู่ในทุกคนทุกครอบครัวสามารถเผยร่างสร้างสำนึกท้องถิ่นสร้างงานสร้างรายได้จากฐานทุนที่มีอยู่โดยไม่ต้องซื้อหาหรือนำเข้าจากแหล่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญา ศิลปะ หัตถกรรม ประเพณี พิธีกรรม การกินการอยู่ การละเล่น การแสดง ฯลฯ การสนับสนุนให้เจ้าของทุนทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ได้นำสิ่งที่ตนมีติดตัวมาปัดฝุ่น พัฒนา และสร้างนวัตกรรม โดยมีมหาวิทยาลัยนำองค์ความรู้มาทำหน้าที่เป็นประหนึ่ง "หุ้นส่วน" ของทุนทางวัฒนธรรมในทุกพื้นที่จะกลายเป็นขอบฟ้าใหม่ของการพัฒนาประเทศที่สร้างสมดุลแห่งความยั่งยืนของชุมชน ชุมชนสามารถพึ่งตนเอง มีภูมิคุ้มกันจากการรุกคืบของทุนนอกพื้นที่ ผลกระทบที่ได้จะมากกว่าผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำมาซึ่งความสุขและความภาคภูมิใจในรากฐานทางวัฒนธรรม สำนึกรักษ์ท้องถิ่น และสำนึกสิ่งแวดล้อมของชุมชน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ฐานทุนนี้รวมถึงหนุนเสริมทักษะฝีมือเฉพาะของศิลปิน ช่างฝีมือท้องถิ่น และเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการวัฒนธรรมจำนวนมากในประเทศ

งาน "มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่ การพัฒนาพื้นที่" ในแต่ละภูมิภาคจะมีไฮไลท์และรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไปตามมนต์เสน่ห์ของทุนทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ โดยมีกำหนดการจัดงานดังนี้

ภาคใต้ วันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2566 บริเวณ ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ภาคเหนือ วันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2566 บริเวณอาคารพลเอกสำเภา ชูศรี (E4) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 10-12 มีนาคม 2566 บริเวณถนนคนเดิน เลียบแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี

ภาคกลาง วันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 บริเวณชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ถ.เยาวราช กรุงเทพฯ



No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Bangkokfocusnews.com ข่าวออนไลน์