เนคเทค สวทช. ผนึกกำลัง DTAC และมูลนิธิชัยพัฒนา ปลดล็อคเพิ่มผลผลิตเห็ดหลินจือนอกฤดูกาล ด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ
เห็ดหลินจือ เป็นผลผลิตที่มีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจ สำหรับดอกเห็ดอบแห้งมีราคาประมาณ 2,500 บาทต่อกิโลกรัม และหากเป็นสปอร์จะมีมูลค่ามีสูงถึง 20,000 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากมีสารสำคัญที่มีสรรพคุณทางยา มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเห็ดหลินจืออยู่ค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและสร้างสารสำคัญเห็ดหลินจือ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพ ปริมาณ และมูลค่าของผลผลิต
ดังนั้น การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและปริมาณสารสำคัญของเห็ดหลินจือ จึงเป็นที่มาของการดำเนินงาน “โครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ” โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการบูรณาการองค์ความรู้ การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ พร้อมกับโครงข่ายสื่อสาร 5G ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือนอกฤดูกาล (ช่วงฤดูหนาว) ในการเพิ่มผลผลิตให้สามารถเพาะปลูกเห็ดหลินจือได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญที่ได้จากโครงการฯ เพื่อเป็นฐานข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ ขยายผลไปสู่เกษตรกรที่สนใจในระยะยาว
ล่าสุด ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. พร้อมทีมนักวิจัย ได้มีโอกาสประชุมหารือ ร่วมกับนายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) และ ดร.อนุตรา วรรณวิโรจน์ ผู้อำนวยการประสานงานโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง มูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน “โครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ” ร่วมด้วยคุณสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส เข้าร่วมเยี่ยมชมการดำเนินโครงการ โดยได้รับเกียรติจาก นายดนุชา สินธวานนท์ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้การต้อนรับ ณ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565
ดร.อนุตรา วรรณวิโรจน์ กล่าวว่า โครงการฯ ถือกำเนิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี 2550 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน เพื่อใช้ในการสนับสนุนการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา-สาธารณรัฐประชาชนจีน ในรูปแบบสิ่งของ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรกล บุคลากร พันธุ์พืช และปัจจัยการผลิตอื่นๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานของมูลนิธิ ได้พระราชทานพระราชานุมัติให้ สำนักงาน “มูลนิธิชัยพัฒนา” ดำเนินงานโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา-สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การดูแลของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้โครงการดังกล่าวเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตร” เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนที่สนใจ และนำกลับไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่ของตัวเอง ขยายผลสู่เกษตรกรรอบข้าง ตลอดจนสถาบันการศึกษา เปรียบเสมือนกับ “ห้องแล็บทางการเกษตร” ของพื้นที่ภาคเหนือ
หนึ่งในพันธุ์พืชที่ได้รับความสนใจและควรค่าต่อการศึกษาวิจัย คือ “เห็ดหลินจือ” ซึ่งมีคุณสมบัติทางยา อย่างไรก็ตาม เห็ดหลินจือเป็นเห็ดที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และแสง ล้วนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของผลผลิตเห็ดหลินจือ มูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้พูดคุยกับดีแทค และ เนคเทค สวทช. ถึงการนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาช่วยในการผลิตพืช และนำมาสู่ความร่วมมือ “โครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ” ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยในระยะที่ 2 โดยมีธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช. (NBT) เข้ามาร่วมคณะทำงานด้วย
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ได้กล่าวถึงการดำเนินโครงการในระยะที่ 1 (พ.ย. 62 – ต.ค. 64) ทั้ง 3 หน่วยงานร่วมกันดำเนินงานทดสอบในโรงเรือนควบคุมเพาะเห็ดหลินจือ โดยเนคเทค สวทช. ได้ติดตั้งอุปกรณ์เซนเซอร์ และระบบควบคุมอัตโนมัติเพื่อการเกษตร (HandySense) ประกอบด้วย เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้น และความเข้มแสง โดยทำการรับส่งข้อมูลไปยัง IoT Cloud Platform ผ่านเครือข่าย 5G เพื่อใช้ในการติดตาม ควบคุมสั่งการเปิดปิดระบบต่าง ๆ ภายในโรงเรือน ได้แก่ ระบบพ่นหมอกเพิ่มความชื้น ระบบสเปรย์น้ำบนหลังคาเพื่อลดอุณภูมิ และระบบฮีตเตอร์เพิ่มอุณหภูมิในช่วงกลางคืน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งทำหน้าที่ดูแลโรงเรือนเพาะเห็ดหลินจือ ได้ใช้งานผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยได้รับการสนับสนุนโครงข่ายสื่อสาร 5G และการพัฒนาแอปพลิเคชันจากบริษัท ดีแทค
นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมีความยินดีอย่างยิ่งในการสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ซึ่งดีแทคได้มีส่วนร่วมออกแบบ และวางแผนติดตั้งระบบเซ็นเซอร์และอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม รวมถึงการติดตั้งและดูแลเสาสัญญาณเพื่อขยายพื้นที่การสัญญาณเครือข่าย 5G บนคลื่นความถี่ 700 MHz นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนโครงสร้างระบบฐานข้อมูลบนคลาวด์ เพื่อเก็บข้อมูลปัจจัยเพาะปลูก ตลอดจนจัดทำแอปพลิเคชันแสดงผลภาพถ่ายหน้าจอมือถือ เพื่อให้สะดวกต่อการดูแลบริหารจัดการ และด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G จะทำให้การรับส่งข้อมูลรวดเร็ว สามารถรองรับงานที่หลากหลาย โดยคาดหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดรับรู้ถึงศักยภาพของเทคโนโลยี 5G เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม เต็มประสิทธิภาพต่อไป
นอกเหนือจากการควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ดหลินจือนั้น “ข้อมูล” อีกปัจจัยหนึ่งที่โครงการฯ ให้ความสำคัญ โดย การนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ทุกเดือนมาจัดทำ Data Analytic ซึ่งโครงการฯ สามารถวิเคราะห์หาค่าพารามิเตอร์ในการจำลองสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหลินจือในฤดูหนาวได้สำเร็จ ทั้งด้านอุณหภูมิ ความชื้น และช่วงความเข้มแสง แต่ยังไม่สามารถเติบโตเป็นผลผลิตที่มีมูลค่าจึงนำมาสู่การขยายความร่วมมือดำเนินโครงการในระยะที่ 2 โดยการเก็บข้อมูลต่อเนื่องให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนการศึกษาปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหลินจือ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ
เนคเทค สวทช. จึงได้ผนึกกำลังความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายในสวทช. คือ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand หรือ NBT) เข้าร่วมทำการศึกษาวิจัย นำความรู้ พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือ ทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ โดยจะทำการทดสอบปัจจัยควบคุมต่างๆ ในตู้ควบคุมการเจริญเติบโตของพืชหรือ Growth Chamber ซึ่งสามารถจำลองสภาพแวดล้อมที่ต้องการได้ และโรงเรือนขนาดเล็กขนาด 100 ก้อนและขนาดกลาง 500 ก้อน เพื่อทวนสอบปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมและนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรือนเพาะเห็ดหลินจือขนาดใหญ่ต่อไป
การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานโครงการในระยะที่ 2 ได้แก่
(1) ปรับใช้บอร์ดควบคุม HandySense รุ่นใหม่ พร้อมกับ NEXPIE IoT Platform ซึ่งทำให้มีระบบแจ้งเตือนการทำงานของเซนเซอร์ที่ล้มเหลวได้ ทำให้การเก็บข้อมูลเข้าฐานข้อมูลไม่ขาดหายเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน(2) ติดตั้งเซนเซอร์วัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ (3) ติดตั้งเครื่องมือวัดความถี่ของแสง (Photosynthetically Available Radiation: PAR Meter)ที่จะเป็นข้อมูลสำคัญ ในการสร้างสารสำคัญของเห็ดหลินจือทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น(4) ปรับปรุงระบบฮีตเตอร์ โดยใช้แผ่นอะลูมิเนียม ช่วยกระจายความร้อนให้สม่ำเสมอภายในโรงเรือน (5) ติดตั้งกล้อง Time Lapse เก็บภาพ/ ข้อมูลการเจริญเติบโตของเห็ดทุกระยะ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ หรือคาดการณ์การเจริญเติบโต(6) การใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
“โครงการความร่วมมือทางด้านวิจัยที่เกิดขึ้นในระยะที่ 2 นี้ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของการเตรียมพร้อมงานวิจัยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะแห่งอนาคต ภายใต้ความท้าทายในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลถือเป็นหัวใจ AI เป็นสมองช่วยคิดวิเคราะห์ โครงข่ายสื่อสารเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการส่งผ่านข้อมูล ทีมผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายเสมือนเป็นร่างกายที่ขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินจริง ดังนั้น การได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างมูลนิธิชัยพัฒนา ดีแทค และธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ จะทำให้เกิดระบบนิเวศของการใช้เทคโนโลยีที่ก่อประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรม เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนที่สนใจ ได้นำกลับไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่ของตัวเอง หรือเป็นต้นแบบสำหรับผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน สอดรับกับวิสัยทัศน์ของเนคเทคที่ต้องการเป็นฐานรากสำคัญด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูงของประเทศ” ดร. ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. กล่าวสรุป
No comments:
Post a Comment