สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม เปิดตัวหนังสือ Heritage Drinks of Myanmar
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Regional Centre for Social Science and Sustainable Development – RCSD) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนจาก Pernod Ricard Asia มร. ลูค เจมส์ คอร์บิน (Luke James Corbin) และสำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม (Silkworm Books) เป็นเจ้าภาพงานแนะนำหนังสือ Heritage Drinks of Myanmar ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อร่วมฉลองการเปิดตัวหนังสือซึ่งเขียนจากผลงานวิจัยเกี่ยวกับบทบาทวัฒนธรรมการดื่มที่ส่งผลต่อการพัฒนาสังคมท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ของเมียนมาร์
จากผลงานวิจัยที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ใน พ.ศ. 2562 Heritage Drinks of Myanmar เป็นเรื่องราวของเครื่องดื่มดั้งเดิม 14 ชนิดที่ยังคงผลิตในประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ผลงานวิจัยนี้ได้รวบรวมเอาวิธีการเตรียมเครื่องดื่ม พิธีกรรม และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเมียนมาร์ อาจกล่าวได้ว่า เครื่องดื่มดั้งเดิมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหมู่บ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการดำรงชีวิตของผู้คนที่พึ่งพิงการเกษตรเป็นหลัก หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์สองภาษาในเล่มเดียวกัน คือ ภาษาอังกฤษและภาษาพม่า มีภาพถ่ายมากกว่า 100 ภาพ ที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการผลิตเครื่องดื่มทั้ง 14 ชนิดนี้
มร.ลูค คอร์บิน ผู้เขียน ได้กล่าวว่า การศึกษาด้านมานุษยวิทยาเกี่ยวกับประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ได้ช่วยให้เราเข้าใจถึงบทบาททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีอยู่ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ และโครงสร้างทางสังคมได้ดีขึ้นอย่างไร คอร์บินอธิบายว่า “แอลกอฮอล์เป็นรากฐานของอารยธรรมมนุษย์ เมื่อเวลาผ่านไป วัฒนธรรมการดื่มที่แตกต่างกันได้พัฒนาขึ้นทั่วโลก วัฒนธรรมการดื่มของเมียนมาร์ทำให้เราเห็นภาพรวมของความหลากหลายในการแสดงออกของมนุษยชาติ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในชนบทและชีวิตทางสังคม รวมถึงวิธีการผลิต การขาย และแบ่งปันเครื่องดื่มที่ผลิตจากท้องถิ่นและชนบทที่ห่างไกล”
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่มีพื้นฐานของเครื่องดื่มแบบดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์และยังไม่ได้รับการศึกษาวิจัยมากนัก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเพณีของประชากรในภูมิภาคนี้ และเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นในแง่ของมรดกทางวัฒนธรรมในเวทีโลก ในช่วงเวลาที่ประชากรโลกกำลังมองหาความเป็นผู้นำและแรงบันดาลใจของทวีปเอเชีย ตรัสวิน จิตติเดชารักษ์ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม กล่าวว่า “การแบ่งปันและความเพลิดเพลินกับการดื่มร่วมกันช่วยให้ผู้คนได้ใช้ชีวิต ได้ทำงาน และสันทนาการควบคู่กันไป นับเป็นหลักฐานทางอารยธรรมของมนุษยชาติที่สำคัญ ”
ปัจจุบัน เราจะเห็นว่า เครื่องดื่มแบบดั้งเดิมและวัฒนธรรมที่อยู่รอบๆ ประเทศเพื่อนบ้านเรากำลังการค่อยๆ เลือนหายไป โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสำคัญในฐานะที่เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น แอร์มองซ์ เดอ ลา บาสตีด (Hermance De La Bastide) รองประธานฝ่ายกิจการองค์กร ความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม ของ Pernod Ricard Asia กล่าวว่า “Heritage Drinks of Myanmar เปิดโอกาสให้เราได้เห็นบทบาทของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมยุคใหม่” และย้ำว่า “ในขณะที่เราหาวิธีจัดการกับพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้น เราก็ยังได้เรียนรู้ว่า แอลกอฮอล์เองก็มีบทบาทในการเสริมสร้างความรู้ของสังคมในประวัติศาสตร์และมรดกของประเทศเช่นกัน” ดังนั้น การเผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้ จึงทำให้เราสามารถรักษามรดกทางวัฒนธรรมการดื่มดั้งเดิมที่เป็นบรรทัดฐานของสังคมเหมือนกับที่เคยเป็นมา
นอกจากนี้ ที่สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ และสมาคมฝรั่งเศสจังหวัดเชียงใหม่ มร.ตีแยรี มาตู (Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้กล่าวเปิดงานนิทรรศการภาพถ่ายผลงานของช่างภาพศิลปิน Cédric Arnold เกี่ยวกับประเพณีการสักยันต์ทางจิตวิญญาณของไทย อันเป็นแรงบันดาลใจให้มีการสักยันต์ทั่วกัมพูชา เมียนมาร์ และลาว นิทรรศการครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ห้องสมุดของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ (Ecole française d’Extrême-Orient – EFEO) สมาคมฝรั่งเศสเชียงใหม่ (Alliance Française de Chiang Mai) และ Pernod Ricard Asia พร้อมกันนี้ นาย ลูค คอร์บิน ได้กล่าวแนะนำหนังสือ Heritage Drinks of Myanmar ภายในงานด้วย
รอยสักที่หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ ภาษา และประวัติศาสตร์ของผู้คนเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับพิธีกรรม การสักมีความสำคัญทางสังคมและใช้เพื่อทำเครื่องหมายเหตุการณ์สำคัญในชุมชน เช่นเดียวกับการใช้แอลกอฮอล์ในพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ของชุมชน การแสดงออกทางศิลปะที่พบในศิลปินสักแห่งผู้เชี่ยวชาญนั้นเปรียบเสมือนกับผู้ผลิตเบียร์ประจำหมู่บ้านหรือผู้กลั่น ที่มีเทคนิคในการผลิตซึ่งมีทั้งความแตกต่าง และสิ่งที่เหมือนกัน ทำให้รสชาติการดื่มออกมาไม่เหมือนกัน สะท้อนถึงการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของชุมชน
บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมงานนิทรรศการได้ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ณ สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ และสมาคมฝรั่งเศสเชียงใหม่
No comments:
Post a Comment