Krungthai CIO เปิด 6 ธีมลงทุนครึ่งปีหลัง มอง
ตลาดหุ้นยังไปต่อ แนะเกาะกระแสลงทุนในกลุ่ม AI
Krungthai CIO มองการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงครึ่งปีหลัง ปรับตัวดีต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก เปิด 6 ธีม สินทรัพย์น่าลงทุน ทั้งตลาดหุ้นสหรัฐ ตลาดหุ้นเกิดใหม่ กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการปฏิรูปเศรษฐกิจญี่ปุ่น แนะเกาะกระแสไปกับกลุ่ม AI ใช้สินค้าโภคภัณฑ์ป้องกันความเสี่ยง ชี้ดอกเบี้ยขาลง หนุนความน่าสนใจของตลาดตราสารหนี้
ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ธนาคารกรุงไทย (Krungthai Chief Investment Office) เปิดมุมการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี เป็นช่วงที่ดีของสินทรัพย์เสี่ยง ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นได้ดี นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นมากกว่า 15% จากแรงหนุนของหุ้นในกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ปรับตัวขึ้นได้โดดเด่น สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ยังคงมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนตลาดหุ้น จากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงขยายตัวได้ดี แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะ Soft Landing หลังตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง ขณะที่ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลายลง แต่เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 5% จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการส่งออกที่ฟื้นตัว แต่ยังมีความเปราะบางของภาคอสังหาฯ และการบริโภคที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ อาจทำให้ตลาดมีความผันผวนในระยะสั้น
Krungthai CIO ได้แนะนำธีมการลงทุนและสินทรัพย์ที่มีความน่าสนใจในช่วงครึ่งปีหลัง ตามลำดับ ดังนี้
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวทั่วถึงมากขึ้น หลังในช่วงครึ่งปีแรกกระจุกตัวอยู่ในหุ้นขนาดใหญ่ โดยในช่วงครึ่งปีหลัง Earning breadth ของตลาดน่าจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กของสหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นตามหุ้นขนาดใหญ่ นอกจากนี้ หุ้นคุณภาพดี (Quality Growth) ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี และราคายังไม่แพงเกินไป เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ
- เกาะกระแสไปกับ AI การลงทุนใน AI ทำให้กำไรหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มโอกาสในการลงทุนตลอดทั้ง Value Chain จึงแนะนำลงทุนในบริษัทที่จะได้ประโยชน์จาก AI ทั้งธุรกิจต้นน้ำที่ลงทุนด้าน AI หรือโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการขยายตัวของ AI เช่น ธุรกิจ Cloud Data Center แหล่งพลังงานรองรับ AI และบริษัทที่นำ AI ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
- การปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเห็นผล อัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับมาขยายตัวที่ระดับเป้าหมาย 2% ค่าจ้างปรับตัวขึ้น ทำให้ค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage ) ปรับตัวขึ้น เพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้บริษัทต่างๆ สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ เป็นปัจจัยหนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มรายได้และกำไรเพิ่มสูงขึ้น
- ยังมีโอกาสสำหรับตลาดเกิดใหม่ มองว่า เศรษฐกิจจีนผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ภาคอสังหาฯ เริ่มทรงตัว โอกาสเกิดวิกฤติลดลง ซึ่งราคาของหุ้นจีนได้รับรู้ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไปแล้ว อีกทั้งทางการจีนมีโอกาสออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หุ้นจีนจึงมีโอกาสฟื้นตัวต่อ นอกจากนี้ ยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อหุ้นเกาหลีใต้ แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนแข็งแกร่ง ตามกำไรของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และได้รับแรงหนุนจากแผนการเพิ่มมูลค่าบริษัทจดทะเบียน (Korea Value up Program)
- สินค้าโภคภัณฑ์ทางเลือกป้องกันความไม่แน่นอน ในช่วงครึ่งปีหลัง ปัจจัยด้านการเมือง และปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์มีความเข้มข้นมากขึ้น ถึงแม้ว่า ในระยะยาว ตลาดจะเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐาน แต่ในระยะสั้นอาจทำให้ตลาดเกิดความผันผวนได้ ดังนั้น อาจเลือกป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตด้วยสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน หรือทองคำ
- เตรียมพร้อมรับอัตราดอกเบี้ยขาลง วัฏจักรการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยตลาดให้ความสำคัญกับ “ขนาด และ จังหวะ” ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มองว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวพอที่จะเปิดทางให้เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยได้ตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ ทำให้เฟดอาจจะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ได้ 2 ครั้ง มากกว่า Dot-plot ล่าสุดที่ 1 ครั้ง ทำให้ตราสารหนี้เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น อย่างไรก็ดี ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าอาจเปลี่ยนแปลงไปจากคาดการณ์ว่า จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ 4 ครั้ง หากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่และทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง
สุดท้ายสหรัฐฯจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงต้นเดือนฤศจิกายน จากข้อมูลในอดีต ตลาดมักมีความผันผวน 1-2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง การลงทุนควรให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานมากกว่าปัจจัยด้านการเมืองอย่างคำกล่าวที่ว่า “Don’t Vote With Your Portfolio” ดังนั้นหากตลาดมีความผันผวน อยากให้นักลงทุนกลับมาพิจารณาปัจจัยฟื้นฐานเป็นหลัก ซึ่งมองว่ายังเอื้อต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป
No comments:
Post a Comment