ไขข้อข้องใจ ทำไมถึงแพ้กุ้งเป็นบางครั้ง ?
ใกล้ถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ เทศกาลที่หลายคนทั่วโลกตั้งตารอ หลายคนอาจจะแพลนไปเที่ยวภูเขา ทะเล แม่น้ำ หรือน้ำตก หรือต่างประเทศ แน่นอนว่าอาหารยอดนิยมหรับเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีที่มีในลิสต์อันดับต้นๆ ที่ขาดไม่ได้คือเมนูอาหารทะเล
สิ่งที่เป็นคำถามยอดฮิต ค้างคาใจของใครหลายๆ คนมาตลอดคือ ทำไมเวลารับประทานกุ้ง ทำไมถึงแพ้เป็นบางครั้ง หรือแพ้เป็นบางร้าน หรือแพ้เฉพาะบางเมนู ทำให้กังวลใจว่าเป็นภูมิแพ้อาหารอยู่หรือเปล่า
มาไขข้อข้องใจกับ แพทย์หญิงอัญชลี เสนะวงษ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช BNH Asthma and Allergy Centre (BAAC) ได้ให้ความกระจ่างชัดในเรื่องนี้ โดยอธิบายว่า เนื่องจากคนเรามีส่วนของกุ้งที่แพ้ไม่เหมือนกัน ในบางคนอาจจะแพ้จากส่วนเนื้อกุ้ง, หัวกุ้งหรือมันกุ้ง, เปลือกหรือสารตกค้างพิษในกุ้งเฉพาะจานนั้น ๆ
ส่วนประกอบของกุ้งคือสารก่อภูมิแพ้
- เนื้อกุ้ง จากบริเวณกล้ามเนื้อท้องของกุ้ง เกิดจากสารจำพวกโทรโปไมโอซิน (Tropomyosin) เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยเป็นหลักในการแพ้กุ้ง
- หัวกุ้ง มีสารที่ทำให้แพ้ได้แก่ ฮีโมไซยานิน (Hemocyanin)
- แพ้ส่วนประกอบอื่นๆ ของกุ้ง
- ไม่ได้แพ้กุ้งแต่ แพ้สารเจือปน สารพิษ หรือพยาธิที่มาจากกุ้ง เช่น อะนิซาคิส (anisakis)
- นอกจากนั้น สายพันธุ์ของกุ้งยังมีผลต่อการแพ้อีกด้วย ผู้ป่วยบางคนแพ้เฉพาะบางสายพันธุ์ของกุ้ง สามารถแบ่งชนิดสายพันธุ์กุ้ง ได้ดังนี้สายพันธุ์น้ำจืด ได้แก่ กุ้งก้ามกราม
- สายพันธุ์น้ำเค็ม ได้แก่ กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย กุ้งขาว กุ้งแดง กุ้งทราย เป็นต้น
อีกส่วนหนึ่งคือมาจากปัจจัยส่วนตัวของคนที่รับประทานกุ้งเอง มีกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้เราไวต่อการแพ้มากขึ้น เช่น ออกกำลังกายอย่างหนักมาก่อนหรือหลังกิน ดื่มแอลกอฮอล์ การที่ช่วงนั้นมีรอบเดือน กินยาแก้ปวดอักเสบมาก่อน เป็นต้น หากช่วงที่เรากินอาหารที่น่าแพ้และมีปัจจัยเหล่านี้อยู่พอดี อาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างมากได้
ข้อแนะนำหากสงสัยว่าแพ้
หากไปเที่ยวทะเล กินอาหารทะเล ห่างไกลตัวเมือง แนะนำพกยาแก้แพ้และสำรวจว่ามีโรงพยาบาลชุมชนใกล้ๆ โรงแรมที่พักหรือไม่ หากมีผื่นหรือคันเล็กน้อยสามารถรับประทานยาแก้แพ้ได้เลย แต่หากมีอาการหนัก เช่น หายใจไม่สะดวก อาเจียน คอบวม ควรรีบมาโรงพยาบาลเพื่อฉีดยา ไม่แนะนำให้ฝืนกินเพื่อทำให้หายแพ้ เพราะในครั้งหน้าอาจเกิดอาการหนักกว่านี้ได้และการแพ้อาหารทะเลมักไม่หายเอง ยังไม่มีข้อมูลชี้ว่าการฝืนรับประทานอาหารทะเลทำให้หายแพ้เร็วกว่าปกติได้
นอกจากนี้ แพทย์หญิงอัญชลี เสนะวงษ์ ยังแนะนำด้วยว่า การรักษาแพ้กุ้ง มีวิธีการรักษาแล้ว (oral immunotherapy) ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อวางแผนการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป
No comments:
Post a Comment