สจล. โชว์ผลการดำเนินงานปี 2566 และ 5 Deep Tech เด่น ย้ำเดินหน้า ‘ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก’
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไทยและโลกด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยวิสัยทัศน์ ‘ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก’ (The World Master of Innovation) โชว์ผลดำเนินงานและ 5 Deep Tech บรรลุเป้าหมายในการบูรณาการวิจัยและการเรียนการสอน ส่งเสริมบ่มเพาะกำลังคนและนวัตกรรมสู่สังคมโลก ผลิตผลงานด้านวิชาการ ส่งเสริมความร่วมมือกับนานาประเทศ ภายใต้การนำของ รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. พร้อมคณะบริหาร อาจารย์ นักศึกษา และทีมงาน ในการขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงและสร้างประโยชน์ต่อประชาชน สังคม เศรษฐกิจ และประชาคมโลกในหลายมิติ
รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. มุ่งมั่นพัฒนาและสร้างสรรค์ Global Innovation เดินหน้าสู่การเป็นสถาบันเทคโนโลยีชั้นนำ โดยตลอดปีการศึกษา 2566 สจล. มุ่งสร้างคนที่มีทักษะเทคโนโลยีระดับสูง หนุนเพิ่มขีดความสามารถของคนไทยและศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก ผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนานวัตกรรมบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ อาทิ โครงการรถไฟไทยทำ ‘สุดขอบฟ้า’ โบกี้โดยสารระดับพรีเมี่ยมโดยฝีมือคนไทย ออกแบบและใช้วัสดุที่ผลิตขึ้นภายในประเทศกว่า 40% เพื่อเป็นต้นแบบและประหยัดงบประมาณนำเข้า ยกระดับการบริการสู่สากล สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัย ผู้ประกอบการและซัพพลายเชนด้านต่างๆ ของไทย สจล.ก้าวไปกับเศรษฐกิจยุคใหม่ด้วยโครงการเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจยุคใหม่ เตรียมความพร้อมหลักสูตรและเป็น Space Hub ศูนย์กลางวิจัยและเรียนรู้ด้านอวกาศ โดยผนึกความร่วมมือกับ 5 องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม ผลักดันไทยเป็นผู้นำเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) และก้าวเป็น ‘ฮับอวกาศในอาเซียน’, โครงการเกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture) ร่วมพัฒนาครบวงจร ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยคิดค้น ‘จุลินทรีย์ - ชีวภัณฑ์ออร์แกนิก’ เพื่อ ‘กิน-อยู่-เที่ยว-เล่น ปลอดภัยไร้สารพิษ’ พัฒนาเกษตรอินทรีย์ยั่งยืนของไทยและยกระดับความมั่นคงทางอาหาร เป็นครัวโลกที่ปลอดภัย และโครงการ ‘เครื่องผลิตออกซิเจนการแพทย์กำลังสูง...แบบเคลื่อนที่ได้ โดดเด่นด้วยประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ คว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติและรางวัลการวิจัยแห่งชาติประจำปี 2567 ซึ่งจะช่วยยกระดับ รพ.ขนาดกลาง-เล็ก เพิ่มอัตรารอดชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
ในด้านนวัตกรรม Deep Tech สจล. สามารถผลักดัน Deep Tech ออกไปสู่ World level ได้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ทำให้เกิดโครงการ KMITL Deep Tech Acceleration Program บ่มเพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อการต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมและเกิด eco system
• แบตเตอรี่กราฟีน โดยทีม SuperBatt-Capa Graphene พัฒนาตัวเก็บพลังงานไฟฟ้าจาก Solar Cell ด้วยแบตเตอรี่กราฟีน ร่วมกับ Super Capacitor กราฟีน นำมาประยุกต์ใช้เก็บพลังงานไฟฟ้าในลักษณะต่างๆ ได้ เช่น กักเก็บไฟฟ้าจาก Solar Cell กักเก็บไฟฟ้าสำหรับระบบชาร์จรถ EV หรือประยุกต์สำหรับเก็บไฟฟ้าในรถยนต์ไฟฟ้าได้ ออกแบบและพัฒนาโดยใช้วัสดุกราฟีนที่ผลิตได้เองจากโรงงานต้นแบบผลิตกราฟีนของ สจล. ประหยัดต้นทุนในการผลิต โดยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
• eVTOL โดยทีม IAAI DRONE CLUB พัฒนานวัตกรรมอีวีทัล อากาศยานไร้คนขับพลังงานไฟฟ้า ขึ้นลงแนวดิ่ง สมรรถนะสูง น้ำหนักเบาและเงียบ ค่าใช้จ่ายต่ำ เพื่อวิเคราะห์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อุบัติภัยไฟป่า-น้ำท่วม และปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างสถิติครั้งแรกในประเทศไทยในการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ได้มากที่สุดในเฟสที่ 1 และแผนสำรวจชายฝั่งทะเลต่อไปในเฟสที่ 2
• Flexible Thermoelectric Devices & Applications โดยทีม Electron+ วิจัย พัฒนา และผลิตวัสดุสารกึ่งตัวนำ หรือ Semiconductors สำหรับใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ Health & Wellness เช่น อุปกรณ์ E-Massage ปัจจุบันดำเนินธุรกิจแบบ B2B รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับเอกชน ควบคู่ไปกับการทำมาตรฐานการผลิตและการ Scale Up โดยมุ่งเป็นบริษัทผลิต Semiconductors Flexible Thermoelectric Materials อันดับ 1 ของเอเชีย
• Egg Crack Detection โดยทีม Egg E Egg ตู้ตรวจสอบคุณภาพไข่ด้วย AI เพื่อวิเคราะห์คุณภาพไข่ได้รวดเร็วแม่นยำ ช่วยลดต้นทุนและสร้างมูลค่าจากการเก็บข้อมูลคุณภาพไข่ ใช้ประเมินราคาไข่ไก่ที่เป็นธรรม เพิ่มโอกาสในการแข่งขันด้านคุณภาพไข่ของไทย
• Heart ATK โดยทีม STEMLAB นำเทคโนโลยีอวกาศมาสร้างสรรค์อุปกรณ์ตรวจจับและแจ้งเตือนความผิดปกติของหัวใจแบบความคุ้มค่าสูง โดยใช้ EKG 12 lead และ Electronic Stethoscope พร้อมระบบช่วยระบุจุดติดขั้วไฟฟ้าให้ถูกต้อง เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่บ้าน สถานพยาบาลขนาดเล็ก และพื้นที่ห่างไกล โดยนำมาใช้ได้สะดวกในครัวเรือนเช่นเดียวกันกับเครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องวัดน้ำตาลในเลือด
อธิการบดี สจล.กล่าวว่า ในด้านงานวิชาการ สจล.พัฒนา 216 หลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อการศึกษายุคใหม่ในบริบทโลกที่ตอบสนองผู้เรียนและความต้องการของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และแนวโน้มการพัฒนาประเทศ สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life – Long Learning) ปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษารวมทั้งสิ้น 27,124 คน แบ่งเป็น ระดับชั้นปริญญาตรี 24,412 คน, ปริญญาโท 1,989 คน และปริญญาเอก 723 คน อาจารย์/ส่วนวิชาการ 2,493 คน โดยปีการศึกษา 2565 มีผู้สำเร็จการศึกษา 6,222 คน ทั้งนี้ สจล. ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด โดยให้บริการศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ‘KMITL Lifelong Learning Center’ หรือ สำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิตพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KLLC) เปิดหลักสูตรออนไลน์ ‘KMITL Masterclass’ เรียนได้ทางเว็บไซต์ klix.kmitl.ac.th พร้อมทั้งหลักสูตรระยะสั้นกว่า 100 หลักสูตร รองรับทุกขีดความสามารถและความต้องการของคนทุกวัย ตั้งแต่วัยต้น วัยทำงาน จนถึงผู้สูงอายุ นอกจากนี้ สจล. ยังร่วมมือกับองค์กรระดับโลก IBM ในหลักสูตรการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลผ่าน ‘แพลตฟอร์ม IBM Skills-Build’ โดยนักเรียนมัธยมปลายสามารถเรียนเก็บเครดิตล่วงหน้าได้ หรือผู้เรียนเก็บเครดิต เพื่อเพิ่มโอกาสการก้าวหน้าในอาชีพการงานในระดับโลกในอนาคตได้เช่นกัน
นอกจากหลักสูตรและกิจกรรมที่สร้างเสริมการเรียนรู้แล้ว ยังนับเป็นครั้งแรกที่ สจล. ประสบความสำเร็จในการจัดนิทรรศการ KMITL INNOVATION EXPO 2023 กระตุ้นให้นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร สจล. คิดค้นสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์นำมาจัดแสดงครั้งใหญ่ 1,111 ผลงาน เพื่อถ่ายทอดเผยแพร่แก่ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักเรียนนักศึกษา และประชาชนจากทั่วประเทศ โดยแผนในปีหน้ากำหนดจัด KMITL INNOVATION EXPO 2024 ในวันที่ 1 - 3 มีนาคม 2567
ส่วนในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อผสานองค์ความรู้และวิจัยในระดับสากล พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างสตาร์ตอัป ได้แก่ ความร่วมมือไทย – เบอร์ลิน ส่งเสริมสตาร์ตอัปไทยให้ก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก และเข้าร่วมงาน AsiaBerlin Summit 2023 ซึ่งเป็นศูนย์กลางสตาร์ตอัปใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก, ความร่วมมือไทย - เนเธอร์แลนด์ ระดมเครือข่ายนักวิชาการนานาชาติจากมหาวิทยาลัย ชุมชนธุรกิจ สถาบันวิจัยและพัฒนา และหน่วยงานภาครัฐ ยกระดับการทำเกษตรแม่นยำและระบบอาหารที่ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว การใช้ประโยชน์จาก ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ และ ‘เกษตรกรรมดาวเทียม’ (Satellite Agriculture) เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร, ความร่วมมือไทย - สหรัฐ เพื่อศึกษาวิจัยพัฒนาและประเมินความเป็นไปได้ในการใช้นวัตกรรมเครื่องปฏิกรณ์แบบไมโครโมดูล (MMR) เป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดในประเทศไทย และพัฒนาองค์ความรู้กำลังคนในอนาคต, ความร่วมมือไทย - ญี่ปุ่น ‘สถาบันโคเซ็นแห่งสจล.’ (KOSEN – KMITL) มุ่งปั้นนักนวัตกรป้อนภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และความร่วมมือไทย - ฝรั่งเศส ผนึกความร่วมมือกับองค์กรที่มีความก้าวหน้าระดับโลก เช่น ENAC ประเทศฝรั่งเศส มีการวิจัยร่วมกันและแลกเปลี่ยนนักศึกษาฝึกงาน รวมถึง U.S.Space Rocket Center สหรัฐอเมริกา และองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเซียแปซิฟิก (APSCO)
No comments:
Post a Comment