KKP ประเมินเศรษฐกิจไทยยังชะล่าใจไม่ได้ โตได้เพียงชั่วคราวแม้มีการแจกเงินปีหน้า - Bangkokfocusnews.com : ข่าวประชาสัมพันธ์ออนไลน์

Latest News 📢

Thursday 30 November 2023

KKP ประเมินเศรษฐกิจไทยยังชะล่าใจไม่ได้ โตได้เพียงชั่วคราวแม้มีการแจกเงินปีหน้า



KKP ประเมินเศรษฐกิจไทยยังชะล่าใจไม่ได้ 
โตได้เพียงชั่วคราวแม้มีการแจกเงินปีหน้า

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทร ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจปรับประมาณการ์เศรษฐกิจปี 2023 เหลือ 2.4% และประมาณการณ์ปีหน้าเป็น 3.7% หาก Digital Wallet ผ่านและ 2.9% กรณีไม่รวม Digital Wallet

อย่างไรก็ตาม GDP ไตรมาส 3 ที่ได้รับการเผยแพร่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยโตในระดับค่อนข้างต่ำที่ 1.5% ในขณะที่ GDP ในฝั่งการอุปสงค์โตได้ถึง 5.6% ความแตกต่างกันค่อนข้างมากของ GDP ฝั่งอุปสงค์และอุปทานนำมาสู่ข้อสงสัยของหลายฝ่ายว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไรกันแน่ KKP Research ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงอ่อนแอกว่าที่ตัวเลขแสดง

เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอกว่าที่เห็น

การบริโภคของ GDP ไตรมาส 3 โตสูงถึง 8% ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและภาคธนาคารชะลอการปล่อยกู้สินเชื่อภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่าเมื่อพิจารณาประกอบกับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่น ๆ แล้ว การใช้จ่ายในประเทศน่าจะโตได้น้อยกว่าตัวเลขดังกล่าวมาก ภายใต้ข้อสังเกตดังต่อไปนี้ ยอดขายบ้านและรถยนต์ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเกิดจากทั้งรายได้ในประเทศที่ยังฟื้นตัวได้ช้า การปล่อยกู้ของสินเชื่อภาคธนาคารที่ตึงตัวขึ้นมาก และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นเร็วทำให้ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น
ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนออกมาอ่อนแอต่อเนื่องสวนทางกับเลข GDP ในฝั่งการใช้จ่าย โดยในช่วงที่ผ่านมา ทิศทางกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยค่อนข้างแย่ และมีจำนวนหุ้นที่ถูกปรับการคาดการณ์รายได้ ( Earning) ลง มากกว่าจำนวนหุ้นที่ถูกปรับการคาดการณ์รายได้ ขึ้น ขณะที่กำไรต่อหุ้นหรือ EPS ของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ลดลงมากว่า 10% จากต้นปี 2023 ซึ่งลดลงมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในช่วงที่ชะลอตัวมากกว่าฟื้นตัวได้ดี
อัตราการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (Same store sale growth) ของบริษัทจดทะเบียนมีทิศทางที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยชะลอตัวลงทั้งในกลุ่มของสินค้าจำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย และมีแนวโน้มปรับเป็นติดลบในไตรมาสที่ 3 ปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินเชื่อในภาคธนาคารหดตัว สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์มีมุมมองที่ไม่ดีนักต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและคุณภาพสินเชื่อในระยะข้างหน้า จึงชะลอการปล่อยกู้ลง
ผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปีภาษีที่ผ่านมา ภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งควรสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หดตัวประมาณ 3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าแม้ปรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงแล้ว ซึ่งผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง

จากทั้ง 5 ชุดข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศไม่น่าจะขยายตัวได้ดีมากนัก โดยทั้งการบริโภคสินค้าคงทน สินค้าไม่คงทน และการลงทุนมีแนวโน้มชะลอตัวลงทั้งหมด

ปรับ GDP ปี 2024 เป็น 3.7% หลังรวมผลของนโยบาย Digital Wallet แม้ KKP Research จะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงอ่อนแอและไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีมากนัก อย่างไรก็ตาม ได้ปรับ GDP เพิ่มขึ้นเป็น 3.7% จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (Digital Wallet) ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ 0.8% ของ GDP โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีหน้า 2) การท่องเที่ยวที่ยังคงฟื้นตัวได้โดยคาดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 35 ล้านคนในปี 2024 และ 3) การส่งออกที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวตามวัฏจักรการผลิตและการส่งออกโลก

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่ายังมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่รัฐบาลอาจไม่สามารถผลักดันมาตรการ Digital Wallet เพราะข้อจำกัดด้านการคลังและกฎหมาย ในกรณีที่ไม่รวมผลจากมาตรการนี้ คาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะชะลอลงเหลือ 2.9% ในปี 2024 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันการเติบโตในระยะยาวมาอย่างต่อเนื่อง

นโยบายแจกเงินส่งผลต่อเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด และกระตุ้นการบริโภคได้เพียงชั่วคราว

KKP Research ประเมินว่าหากนโยบาย Digital Wallet สามารถออกใช้ได้ตามที่รัฐบาลแถลง จะมีต้นทุนสูงถึง 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้น แต่ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะมีค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับต้นทุน โดยประเมินตัวคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่ 0.3 เท่า ซึ่งจะส่งผลบวกต่อ GDP ประมาณ 0.8% ในปี 2024 โดยผลดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีหน้าหากมีการออกใช้จริง และเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวลงอย่างมากหลังจากนั้น (ดู KKP Research นโยบายรัฐได้ไม่คุ้มเสี) เนื่องจากสถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ยากขึ้น มากกว่าประเด็นการลดลงของรายได้ชั่วคราว นอกจากนี้ ผลกระทบด้านลบยังรวมไปถึงต้นทุนทางอ้อมต่อเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้น จากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นจากการที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เพิ่มอีกด้วย

เศรษฐกิจโลกยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ท่องเที่ยวฟื้นช้ากว่าคาด

KKP Research คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสชะลอตัวแต่น่าจะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องในปีหน้า แม้มีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสขยายตัวได้ จากแรงสนับสนุนทั้งวัฏจักรการผลิต การย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ (Reshoring) จากภาวะการย้อนกลับของโลกาภิวัฒน์ (Deglobalization) และมาตรการกระตุ้นการลงทุนซึ่งส่งผลให้ผลิตภาพของแรงงานปรับตัวดีขึ้น และน่าจะทำให้การส่งออกของไทยในปี 2024 มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้เล็กน้อยสอดคล้องกับการส่งออกของประเทศในภูมิภาค โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะเติบโตได้เล็กน้อยที่ 2.0%

อย่างไรก็ตาม KKP Research ปรับลดตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2024 จาก 38 ล้านคน เหลือ 35 ล้านคนในปีหน้า จากนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวกลับมาได้ช้ากว่าที่คาด ซึ่งเกิดจากทั้งปัญหาภายในของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวไทยที่แย่ลงหลังเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา และความกังวลด้านความปลอดภัยที่ทำให้คนจีนลดความสนใจในการมาท่องเที่ยวประเทศไทย

เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยสูง

KKP Research ประเมินว่าจากทิศทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอจะทำให้อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำที่ 1.7% เท่านั้น โดยในช่วงที่ผ่านมาเงินเฟ้อไทยลดลงอย่างรวดเร็วและเริ่มเติบโตติดลบในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มคงที่ ซึ่งเงินเฟ้อในไทยถือว่าปรับตัวลดลงเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในโลกต่างจากหลายประเทศที่เงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงยาวนาน ในขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจส่งสัญญานทิศทางไม่ชัดเจน ทำให้การประเมินเศรษฐกิจเพื่อดำเนินนโยบายทำได้ยากขึ้น โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศจะยังคงดอกเบี้ยที่ 2.5% ไปตลอดทั้งปี 2024 ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันมีความเสี่ยงที่นโยบายการเงินไทยจะอยู่ในภาวะที่เริ่มตึงตัวมากเกินไป ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยสูงขึ้นที่ประมาณ 2.5% ซึ่งมากกว่าสหรัฐ ฯ ที่ประมาณ 2% ในกรณีที่นโยบาย digital wallet ไม่เกิดขึ้นได้จริง โอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีสูงขึ้น

ประเด็นสุดท้าย การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศไม่ได้เกิดจากเฉพาะปัจจัยชั่วคราวแต่มีส่วนสำคัญจากปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวที่ทำให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยตกต่ำลงต่อเนื่อง โดยศักยภาพการเติบโตของไทยในปัจจุบันอาจลดลงเหลือประมาณ 2.4% ตามแนวโน้มการเติบโตใหม่ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแต่จำเป็นที่จะต้องมีนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวเพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน

เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เกิดขึ้นจากการร่วมกิจการระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการโดย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และธุรกิจตลาดทุนที่ดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ จำกัด โดยกลุ่มธุรกิจฯ มุ่งนำทรัพยากรสู่ลูกค้าอย่างถูกต้อง เหมาะสม และเปี่ยมประสิทธิภาพด้วยบริการที่เหนือความคาดหมาย

ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมสินเชื่อบรรษัท สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย เช่นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนธุรกิจด้านตลาดทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking) ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ธุรกิจการลงทุน (Direct Investment) ตลอดจนธุรกิจจัดการกองทุน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kkpfg.com

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Bangkokfocusnews.com ข่าวออนไลน์