สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าว “ม.มหิดลห่วงใย ปีใหม่ เด็กไทยปลอดภัย เมื่อใช้คาร์ซีท” - Bangkokfocusnews.com : ข่าวประชาสัมพันธ์ออนไลน์

Latest News 📢

Sunday 25 December 2022

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าว “ม.มหิดลห่วงใย ปีใหม่ เด็กไทยปลอดภัย เมื่อใช้คาร์ซีท”



สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว 
ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าว “ม.มหิดลห่วงใย ปีใหม่
เด็กไทยปลอดภัย เมื่อใช้คาร์ซีท”

วันที่ 21 ธันวาคม 2565 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว “ม.มหิดลห่วงใย ปีใหม่เด็กไทยปลอดภัย เมื่อใช้คาร์ซีท” โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาต จิตต์เจริญ รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้ประกอบการภาคเอกชน ร่วมการแถลงข่าวในครั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยให้แก่เด็กขณะโดยสารรถยนต์ ในการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในการโดยสารรถยนต์ เพื่อลดการบาดเจ็บ การตาย จากอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางในช่วงปีใหม่นี้ ณ ห้องลานเพลินชั้น 2 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวว่า การแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 123 ที่กำหนดให้คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกินหกปี หรือความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องใช้ที่นั่งนิรภัยนั้น จนถึงวันนี้ใกล้ช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่แล้ว กฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ กฎ หรือคำสั่งโดยพระราชบัญญัตินี้ ยังไม่แล้วเสร็จทั้ง ๆ ที่ ตามมาตรา 40 จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ (4 ธ.ค.65) ซึ่งเด็กยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองจากการโดยสารรถยนต์ต่อไป

น่าแปลกใจที่หลายหน่วยงานไม่ยอมดำเนินการออกกฎระเบียบต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ หลายครอบครัวยังคงคัดค้าน ไม่ยอมใช้คาร์ซีท ในงานมหกรรมยานยนต์ มอเตอร์ EXPO 2022 ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้คนสนใจมาชมในงานกว่า 1 ล้าน 3 แสนคน มีการจองรถยนต์รวมทั้งสิ้น 36,000 คัน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 50,000 ล้านบาท แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่รถยนต์ทุกยี่ห้อซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ไม่สามารถใช้ได้โดยอุปกรณ์มาตรฐานที่ติดตั้งมากับรถยนต์ ต้องใช้กับอุปกรณ์เสริมคือที่นั่งนิรภัยเท่านั้น และเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิตของเด็ก ๆ อายุต่ำกว่า 15 ปี กว่าปีละ 140 คน แต่กลับยังไม่มีใครออกตัวมาแสดงตนเป็นผู้นำหลักในการรณรงค์ขับเคลื่อนการใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็ก แม้ว่าจะมีการจัดซุ้มกิจกรรมมากมายให้กับเด็กและครอบครัว แต่ไม่ได้ช่วยเผยแพร่และขับเคลื่อนการใช้ที่นั่งนิรภัยเพื่อความปลอดภัยในเด็กให้กับครอบครัว รวมทั้งรถยนต์เกือบทุกยี่ห้อได้รับการทดสอบและจัด rating ระดับความปลอดภัยในเด็ก (child safety rating) ทั้งโดย Euro NCAP / ASEAN NCAP แต่ไม่ได้มีการนำประเด็นดังกล่าวมาส่งเสริมการขาย ซึ่งภายหลังที่มีประกาศพระราชกิจจานุเบกษา ได้มีคณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อน 4 ประเด็น ได้แก่ ด้านการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ด้านการสร้างความรู้กับผู้ปฏิบัติงาน ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และด้านราคาและการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาต จิตต์เจริญ รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า กลไกด้านการสร้างความเข้าใจกับประชาชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ควรมีข้อแนะนำให้กับประชาชนในการเลือกซื้อ / ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่เหมาะสมและปลอดภัย มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนผ่านหน่วยงานต่าง ๆ กระทรวงสาธารณสุขควรให้ความรู้ผ่านโรงพยาบาลทุกแห่ง ภาคธุรกิจรถยนต์ควรมีความรับผิดชอบให้ข้อมูลความปลอดภัยของการโดยสารของเด็กในรถที่จำหน่ายทุกคันสำหรับในหญิงตั้งครรภ์มีความสำคัญในการใช้เข็มขัดนิรภัยในการเดินทางเช่นกัน เพราะหมายถึงสองชีวิตทั้งแม่และลูกในครรภ์ การคาดเข็มขัดนิรภัยจะทำให้แม่ที่กำลังตั้งครรภ์และประสบอุบัติเหตุรถยนต์ มีความเสี่ยงลดลงในเรื่องการคลอดก่อนกำหนด ภาวะทารกตายในครรภ์และการเสียชีวิตของแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ วิธีการคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ให้ถูกวิธี คือ ต้องจัดตำแหน่งของสายเข็มขัดนิรภัยที่พาดจากหัวไหล่ให้พาดทแยงตรงกึ่งกลางระหว่างร่องอกลงมาด้านข้างช่องท้องและส่วนสายเข็มขัดนิรภัยที่พาดในแนวนอน ให้จัดสายพาดบริเวณใต้ท้อง หรือพาดจากสะโพกด้านหนึ่งไปยังสะโพกอีกด้าน และอาจใช้ผ้านุ่ม ๆ วาง ก่อนคาดเข็มขัดนิรภัยเพื่อลดการเสียดสีได้

ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค (ANCA), ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า คาร์ซีทเป็นเรื่องสิทธิเด็กที่ต้องได้รับการคุ้มครอง กลไกด้านมาตรฐานความปลอดภัยที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กมีความสำคัญ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมควรร่างประกาศการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์โดยจะออกเป็นเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน UNR44 และ UNR129 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่า สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคต้องกำหนดการแสดงฉลาก UNR44 และ UNR129 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่า รวมถึงคำเตือนอื่น ๆ ผู้ขายรถยนต์ต้องให้ข้อมูลความปลอดภัยในเด็กแก่ผู้ซื้อมากกว่านี้ รวมทั้งตลาดที่นั่งนิรภัยที่กำลังเติบโตขึ้นต้องคำนึงถึงมาตรฐาน ควรมีการจัดเตรียมศูนย์ทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ซึ่งทางสภาองค์กรผู้บริโภคจะติดตามการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในตลาดต่อไป

เครือข่ายผู้ประกอบการภาคเอกชน ได้แก่ เภสัชกรหญิง ดร.ณัฎฐพร บูรณะบุญวงศ์ บริษัท โกลวี่ สตาร์ จำกัด แบรนด์ GLOWY / บริษัท คิดโด้ เปซิฟิก จก. / บริษัท ธนทรัพย์ภัทรโชค จำกัด /บจก.ไทยเนเจอร์เฮิร์บ จำกัด กล่าวว่า หลักสำคัญในการเลือกและใช้งานคาร์ซีท เพื่อความปลอดภัย ต้องเลือกให้เหมาะกับสรีระของเด็ก คาร์ซีทแต่ละรุ่นจะผ่านการทดสอบมาตรฐานตามช่วงน้ำหนัก หรือส่วนสูงของเด็ก โดยที่มาตรฐาน R44/04 จะใช้น้ำหนักเป็นเกณฑ์ ส่วนมาตรฐานใหม่ R129 จะใช้ส่วนสูงของเด็กเป็นเกณฑ์ ดังนั้น การเลือกคาร์ซีทจำเป็นจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับน้ำหนักและส่วนสูงของเด็ก

ขั้นต่อมาต้องเลือกระบบติดตั้งที่เหมาะกับรถยนต์ ระบบติดตั้งหลักที่มีใช้กันอยู่คือ ระบบติดตั้งด้วยเข็มขัดนิรภัย 3 จุดของรถยนต์ และระบบติดตั้งด้วยไอโซฟิก โดยทั้ง 2 ระบบ ถ้าทำการติดตั้งอย่างถูกต้อง สามารถให้ความปลอดภัยในการใช้งานได้ไม่แตกต่างกัน แต่การติดตั้งด้วยระบบไอโซฟิกจะทำให้การติดตั้งอย่างถูกต้องทำได้ง่ายขึ้นและแน่นหนาขึ้น ดังนั้น ก่อนเลือกซื้อคาร์ซีทควรตรวจสอบรถยนต์ที่ใช้งานว่ารองรับการติดตั้งระบบใดได้บ้าง

ขั้นต่อมาต้องใช้งานอย่างถูกต้อง การใช้งานคาร์ซีทอย่างถูกต้องมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของเด็ก โดยควรคำนึงถึงตำแหน่งที่นั่งในรถยนต์ ทิศทางการนั่ง และการคาดเข็มขัดนิรภัย ตำแหน่งที่นั่งที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กคือที่บริเวณเบาะหลัง ทิศทางการนั่งสำหรับเด็กเล็กต้องนั่งหันหน้าไปทางด้านหลังรถให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เดิมกำหนดว่าเด็กต้องนั่งหันหน้าไปทางด้านหลังรถจนกระทั่งเด็กมีน้ำหนัก 9 กก. แต่มาตรฐานยุโรปฉบับใหม่แนะนำว่าเด็กต้องนั่งหันหน้าไปทางด้านหลังรถ จนถึงอายุ 15 เดือน หลังจากนั้นจึงนั่งหันหน้าไปทางด้านหน้ารถได้ และการคาดเข็มขัดนิรภัย ควรปรับให้ความสูงของสายเข็มขัดพาดไหล่อยู่สูงพอดีกับไหล่เด็ก และดึงกระชับสายเข็มขัดให้พอดีกับตัวเด็กเพียงเท่านี้ลูกเราก็จะเดินทางโดยรถยนต์ได้อย่างปลอดภัย โดยการฝึกลูกนั่งคาร์ซีทเมื่อต้องเดินทางไกล ถ้าลูกไม่เคยนั่งคาร์ซีทมาก่อนเลย ควรให้ลูกทำความคุ้นเคยกับคาร์ซีท ด้วยการเดินทางระยะทางใกล้ ๆ ก่อน ให้แม่นั่งอยู่ด้วยข้าง ๆ เล่นกับลูก เตรียมอุปกรณ์สำหรับการเดินทางให้พร้อม หากต้องเดินทางเป็นเวลานาน แนะนำให้จอดพักทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อผ่อนคลายอิริยาบถ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลไกด้านการสร้างความรู้กับผู้ปฏิบัติงานนั้น ทางสถาบันฯ และหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนมีแผนร่วมมือในการสร้าง “จิตอาสาคาร์ซีท” มีการจัดการอบรมให้ความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน คนขับรถสาธารณะ แท็กซี่ ฯลฯ เพื่อสร้างผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อไป สำหรับกลไกด้านราคาและมาตรการสนับสนุนด้านภาษีนั้น ปัจจุบันภาษีการนำเข้าสินค้าเป็น 0 ราคาถูกลงแล้ว แต่กรมการค้าภายในยังเป็นผู้กำหนดราคาที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในประเทศไทย ส่วนกลไกด้านอื่น ๆ รัฐยังไม่มีมาตรการจัดงบประมาณจากภาครัฐเพื่อสนับสนุนด้านราคาของที่นั่งนิรภัย และสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารที่นั่งนิรภัยในจุดบริการเด็กต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์เด็กเล็กและสถานศึกษา ยังไม่มีการสนับสนุนการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ สำหรับในด้านราคาเอง รัฐยังไม่มีนโยบายเฉพาะช่วยผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถซื้อที่นั่งนิรภัยได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ รัฐและหน่วยงานภายใต้รัฐควรขับเคลื่อนให้มากกว่านี้เพื่อไม่สร้างภาระอันเกินควรในการออกกฎหมายละเมิดสิทธิตามมาตรา 26 รัฐธรรมนูญ




No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Bangkokfocusnews.com ข่าวออนไลน์