นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยผงาด! คว้าทุน "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ระดับนานาชาติ ครั้งแรกในรอบ 19 ปี - Bangkokfocusnews.com : ข่าวประชาสัมพันธ์ออนไลน์

Latest News 📢

Friday 1 July 2022

นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยผงาด! คว้าทุน "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ระดับนานาชาติ ครั้งแรกในรอบ 19 ปี



นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยผงาด!
คว้าทุน "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ระดับนานาชาติ ครั้งแรกในรอบ 19 ปี

ดร.พันธนา ตอเงิน จากภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย

"เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" (For Women in Science) นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่งระดับนานาชาติ"

ปารีส 28 มิถุนายน 2565 – มูลนิธิลอรีอัล (L'Oréal Foundation) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เดินหน้าจัด โครงการทุนวิจัยลอรีอัล "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ครั้งประวัติศาสตร์ ณ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส ในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์หญิงชั้นนำทั้งหมด 45 ท่าน จากกว่า 35 ประเทศทั่วโลก

พิธีสำคัญดังกล่าวได้มอบทุนวิจัย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ให้กับนักวิทยาศาสตร์หญิงจำนวน 15 ท่าน ที่มีผลงานการวิจัยที่โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังเดินหน้ามอบรางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่งระดับนานาชาติ" (International Rising Talents) ให้กับนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่จำนวน 30 ท่าน ที่ได้รับคัดเลือกในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2565 อีกด้วย

โดยในปีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พันธนา ตอเงิน จากภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" (For Women in Science) เป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่งระดับนานาชาติ" ด้วยผลงานวิจัยที่โดดเด่นในหัวข้อ 'การศึกษาผลกระทบของความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อวัฏจักรน้ำในระบบนิเวศป่า'

แต่ละปี มูลนิธิลอรีอัลจะมอบรางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่งระดับนานาชาติ" ให้กับนักวิทยาศาสตร์หญิงที่มีศักยภาพมากที่สุด 15 ท่าน จากนักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่งทั้งหมดกว่า 250 ท่านในโครงการทุนวิจัยลอรีอัล "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยนักวิทยาศาสตร์หญิงเหล่านี้จะได้รับการคัดเลือกเบื้องต้นจากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ในประเทศ หลังจากนั้นจะได้รับคำเชิญให้ส่งใบสมัคร ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ระดับนานาชาติที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่งระดับนานาชาติ 15 ท่าน จะได้รับทุนวิจัยสนับสนุนเพิ่มอีก 15,000 ยูโร นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านทุนวิจัยและการเชิดชูจากนานาประเทศแล้ว นักวิทยาศาสตร์หญิงเหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรมด้านความเป็นผู้นำ ที่นับเป็นหลักสูตรพิเศษสำหรับสายวิชาการ ที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมการเดินหน้าสร้างความเท่าเทียมกันนักวิจัยหญิงที่นับเป็นอนาคตของวงการวิทยาศาสตร์ และการมอบรางวัลในครั้งนี้จะช่วยดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาได้อย่างเต็มกำลัง



ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.พันธนา ตอเงิน นั้นเป็นนักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่นที่ได้รับทุนโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ในปีที่ผ่านมา โดยมีผลงานวิจัยมุ่งเน้นติดตั้งเสาและอุปกรณ์ตรวจวัดอย่างต่อเนื่องในป่าหลายขั้นการทดแทน ซึ่งนับเป็นงานวิจัยในเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถเก็บข้อมูลได้เป็นเวลานานเพื่อติดตามสถานะและการเปลี่ยนแปลงของอัตราการใช้น้ำของป่า ซึ่งหากเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี ก็จะสามารถนําไปวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ นับเป็นข้อมูลสําคัญที่เกิดจากการตรวจวัดในพื้นที่จริงที่ยังไม่ปรากฏในป่าเขตร้อนที่มีหลายขั้นการทดแทนแห่งใดในโลก และยังเป็นประโยชน์เชิงนโยบาย ช่วยในการวางแผนและบริหารจัดการการใช้น้ำของชุมชนที่จะแม่นยํามากขึ้น นอกจากนี้การวิเคราะห์ความทนแล้งของชนิดพันธุ์ต้นไม้ในป่าเหล่านี้ ยังจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการคัดเลือกพันธุ์ต้นไม้ที่สามารถทนแล้งได้มาปลูกทดแทน นับเป็นฐานข้อมูลสําคัญสําหรับโครงการฟื้นฟูป่าในพื้นที่ใกล้เคียง นําไปสู่ผลประโยชน์ทั้งด้านวิชาการและการใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลในป่าเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ค้นพบได้ในการศึกษาด้านป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก

การส่งเสริมความเท่าเทียมกันให้กับเหล่านักวิทยาศาสตร์หญิง

3 ปีที่ผ่านมา นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดสำหรับวงการวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์หญิงก้าวขึ้นมามีบทบาทในแถวหน้า ในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โรคติดต่อ และภาวะวิกฤตอย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ถึงแม้ว่าพวกเธอจะมีความสำคัญในการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินปัจจุบันนี้มากเพียงใดก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หญิงก็ยังมีจำนวนไม่มากพอ และไม่ได้รับการยอมรับอย่างที่ควรจะเป็น

อ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากยูเนสโกพบว่า ผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสายงานวิทยาศาสตร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และถึงแม้ว่าปัจจุบันในจำนวนนักวิจัย 3 คน จะเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงแล้ว 1 คน[1] แต่ความไม่เท่าเทียมกันนั้นยังคงอยู่ โดยในยุโรปมีนักวิทยาศาสตร์หญิงเพียง 14.2%[2] เท่านั้นที่ดำรงตำแหน่งในระดับอาวุโส และในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีนักวิทยาศาสตร์หญิงได้รับรางวัลโนเบลในสาขาวิทยาศาสตร์เพียง 8% เท่านั้น

อเล็กซานดรา พัลท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความรับผิดชอบขององค์กร ลอรีอัล กรุ๊ป และกรรมการผู้จัดการ มูลนิธิลอรีอัล กล่าวว่า "ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ลอรีอัลเล็งเห็นถึงความสำคัญของนักวิทยาศาสตร์หญิงในหลากหลายมิติ ทั้งในระดับสังคม และระดับโลก ตลอดจนการจัดการกับวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์หญิงเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง อีกทั้งยังต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายทั้งในระหว่างการทำงาน และการวิจัย สถานการณ์เช่นนี้เป็นผลมาจากการไม่เห็นความสำคัญของความเท่าเทียมกัน การมีอคติโดยที่ไม่รู้ตัว การมองข้ามความเป็นจริง ตลอดจนถึงการเลือกปฏิบัติต่อคนในวงการเดียวกัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับผลงานวิจัยด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว งานวิจัยที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้อย่างแท้จริง ควรต้องดำเนินการอย่างไร้อคติและครอบคลุม"

นับตั้งแต่ก่อตั้งโครงการฯ เมื่อปี พ.ศ. 2541 โครงการทุนวิจัย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ได้สนับสนุนนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่จำนวนกว่า 3,900 คน แต่ละปีโครงการฯ ได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่มากกว่า 250 ท่าน ทั้งในโครงการระดับประเทศและระดับทั่วโลก และได้มอบทุนเกียรติยศนานาชาติแก่นักวิจัยสตรีระดับ Laureates ไปแล้วกว่า 100 ท่าน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของโครงการฯ ในการผลักดันวงการวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง



นักวิจัยหญิงที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ล้วนแต่มีส่วนในการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และช่วยค้นหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความท้าทายเร่งด่วนที่โลกกำลังเผชิญอย่างมีนัยสำคัญ การจัดโครงการฯ ครั้งประวัติศาสตร์ในปีนี้นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการเชิดชูนักวิทยาศาสตร์หญิงทุกคนที่สามารถข้ามผ่านปัญหาต่าง ๆ มาได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยโครงการฯ จะยังคงเดินหน้าส่งเสริมเหล่านักวิทยาศาสตร์หญิงให้ได้รับการยอมรับอย่างที่ควรจะเป็นต่อไป

สำหรับประเทศไทยนั้น โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ได้สนับสนุนนักวิทยาศาสตร์หญิงชาวไทยมาแล้วเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี โดยโครงการฯ ประจำปี 2565 ได้เปิดรับสมัครนักวิทยาศาสตร์หญิงแล้วตั้งแต่วันนี้ - 31 กรกฎาคม 2565 ผ่านทาง www.fwisthailand.com. โดยจะเดินหน้ามอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25 – 40 ปี ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ลอรีอัล ประเทศไทย ได้ดำเนินงานโครงการมาเป็นปีที่ 19 โดยมีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 76 ท่าน จาก 20 สถาบัน

เกี่ยวกับโครงการ ทุนวิจัย ลอรีอัล "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์"

โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" หรือ For Women In Science เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นเมื่อ 22 ปีก่อน จากความร่วมมือระหว่าง ลอรีอัล กับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ L'Oréal Foundation โดยให้การสนับสนุนและเชิดชูผลงานของนักวิจัยสตรีทั่วโลก เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมของสตรีในวงการวิทยาศาสตร์

ในประเทศไทย ลอรีอัล ได้ดำเนินการโครงการฯ มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 โดยมอบทุนให้กับนักวิจัยสตรีไทยที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยงานวิจัยจะต้องมีศักยภาพชัดเจนในการสร้างประโยชน์ต่อสังคม มีกระบวนการวิจัยที่เหมาะสม ผ่านเกณฑ์การชี้วัดของโครงการฯ มีจริยธรรมในการทำงาน และเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิทยาศาสตร์ โดยผู้พิจารณาผลงานคือคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ที่ประกอบด้วยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ 10 ท่าน ได้แก่

ประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์
ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น พ.ศ. 2527 สาขาชีวเคมี

รองประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ 
ศ. ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น พ.ศ. 2534 นักเทคโนโลยีดีเด่น พ.ศ.2562 รางวัลรัตนราชสุดา สารสนเทศ ประจำปี 2564 และราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภทวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ 

ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา ศาสตราจารย์และที่ปรึกษางานวิจัย ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านโปรตีนรักษาพันธุวิศวกรรมแอนติบอดี และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น พ.ศ. 2542 สาขาวิทยาภูมิคุ้มกัน
ศ.เกียรติคุณ ดร. มรว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ศาสตราจารย์ภาควิชาชีวเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการชีวเคมี สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และอดีตนายกสมาคมโปรตีนแห่งประเทศไทย และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น พ.ศ. 2545 สาขาชีวเคมี
รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้บริหารประจำสำนักงานศึกษาและพัฒนาโครงการพิเศษ (โครงการจัดตั้งหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตยานยนต์) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
รศ. ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ที่ปรึกษาอาวุโส ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ศ. ดร. จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี VISTEC และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น พ.ศ. 2546 สาขาเคมี และบุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2553
ศ. เกียรติคุณ ดร. ยงค์วิมล เลณบุรี ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น พ.ศ. 2550 สาขาคณิตศาสตร์
ศ. เกียรติคุณ ดร. นทีทิพย์ กฤษณามระ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาหน่วยวิจัยแคลเซียมและกระดูก ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย (สกว.)
ดร. กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เกี่ยวกับลอรีอัล กรุ๊ป

ลอรีอัล กรุ๊ป ในฐานะองค์กรด้านความงามชั้นนำของโลก ทุ่มเทในธุรกิจความงามมายาวนานกว่า 110 ปี เพื่อตอบสนองต่อความปรารถนาด้านความงามของผู้คนทั่วโลก ภายใต้เป้าหมายในการสร้างสรรค์ความงามที่ขับเคลื่อนโลกใบนี้ ลอรีอัลกำหนดทิศทางและมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้านความงามที่ครอบคลุม มีจริยธรรม สร้างความยั่งยืนให้กับสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์อันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งประกอบด้วย 35 แบรนด์ชั้นนำระดับโลก และพันธสัญญาเพื่อความยั่งยืนอย่าง L'Oréal for the Future ลอรีอัลมุ่งมั่นมอบสิ่งที่ดีที่สุดด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย เต็มเปี่ยมไปด้วยความจริงใจ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความงามอันเป็นเอกลักษณ์ให้กับผู้คน

ลอรีอัล กรุ๊ป มียอดขายผลิตภัณฑ์ 3.228 หมื่นล้านยูโรในปี 2564 มีผลิตภัณฑ์จัดจำหน่ายผ่านทุกช่องทาง ครอบคลุมถึงอีคอมเมิร์ซ ตลาดทั่วไป ห้างสรรพสินค้า เภสัชกรรมและร้านขายยา ซาลอน ร้านค้าปลีก และร้านค้าในสนามบิน และมีพนักงาน 85,400 คนทั่วโลก ลอรีอัลยึดมั่นในกลยุทธ์ที่สำคัญขององค์กรในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องโดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนากว่า 20 แห่งใน 11 ประเทศทั่วโลก พร้อมด้วยทีมงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมากกว่า 4,000 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกว่า 3,000 คน คิดค้นและพัฒนาความงามแห่งอนาคต เพื่อก้าวขึ้นเป็นแบรนด์ชั้นนำด้าน Beauty Tech ต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.loreal.com/en/mediaroom

เกี่ยวกับลอรีอัล ประเทศไทย

ลอรีอัล ประเทศไทย เป็นสาขาของบริษัทผู้นำความงามของโลก นำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์ระดับสากล ใน 4 แผนกผลิตภัณฑ์ แผนกผลิตภัณฑ์อุปโภค: ลอรีอัล ปารีส, การ์นิเย่ และ เมย์เบลลีน นิวยอร์ก
แผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง: ลังโคม, ไบโอเธิร์ม, จิออร์จิโอ อาร์มานี, คีลส์, ชู อูเอมูระ, อีฟส์ แซ็งต์ โลร็องต์ และ อิท คอสเมติกส์
แผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ: ลอรีอัล โปรเฟสชั่นแนล และเคเรสตาส
แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง: ลา โรช-โพเซย์, วิชี่ และเซราวี

Follow us on Facebook @lorealthailand

www.lorealthailand.com

[1] UNESCO Science Report: "the Race Against Time for Smarter Development", UNESCO Publishing (2021)

[2] European Commission 2018 She figures report



No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Bangkokfocusnews.com ข่าวออนไลน์