Doll House ของเล่นสอนความเห็นอกเห็นใจ รู้อยู่กับผู้พิการในสังคมศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน - Bangkokfocusnews.com : ข่าวประชาสัมพันธ์ออนไลน์

Latest News 📢

Sunday 29 May 2022

Doll House ของเล่นสอนความเห็นอกเห็นใจ รู้อยู่กับผู้พิการในสังคมศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน




Doll House ของเล่นสอนความเห็นอกเห็นใจ รู้อยู่กับผู้พิการในสังคมศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน

อาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนา “บ้านตุ๊กตา” ของเล่นบ่มเพาะอุปนิสัยความเห็นอกเห็นใจให้เด็กๆ รู้จักแนวทางการอยู่ร่วมกับผู้พิการและผู้ชราในสังคมอย่างมีความสุข

การปลูกฝังให้เด็กมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ไม่อาจทำได้ผ่านการบอกสอนหรือท่องจำ แต่เกิดจากเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมและการเล่นที่จำลองสถานการณ์และผู้คนที่หลากหลาย เช่น “Doll House” ของเล่นสื่อการเรียนรู้ที่พัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พรเทพ เลิศเทวศิริ สาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “การปลูกฝังให้เด็กเป็นคนมีจิตใจโอบอ้อมอารีและเข้าอกเข้าใจ (empathy) เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุข ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือช่วงก่อนวัยเรียนอายุ 3-6 ขวบ (อนุบาล) ที่เด็กๆ เปิดรับการเรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ง่าย”

Doll house ของเล่นจำลองภาพสังคม

Doll house คือบ้านตุ๊กตาที่มีความพิเศษตรงที่เป็นตุ๊กตาที่แสดงออกถึงความพิการ ทั้งตุ๊กตาผู้พิการทางสายตา ผู้พิการทางการได้ยิน หรือผู้พิการทางสมอง เป็นต้น และส่วนของตัวบ้านนั้นจะมีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ตรงกับสิ่งของที่ใช้ในชีวิตจริงพร้อมกับมีกลไกการทำงานที่เหมือนจริง

ผศ.พรเทพ พัฒนา Doll house โดยต่อยอดจากงานวิจัยที่ได้รับรางวัลระดับโลก เช่น ข้อต่อตัวตุ๊กตาที่ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เฉพาะของระบบการล็อคข้อต่อต่างๆ ทำให้ตุ๊กตาที่ประกอบขึ้นมาขยับเขยื้อนได้ตามจุดที่กำหนด มีความเสมือนจริง เพิ่มความน่าสนใจในการเล่น

ในเซทอุปกรณ์ Doll House จะเป็นตัวตุ๊กตาสำเร็จรูปที่มีคุณลักษณะท่าทางที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้พิการรวมถึงตัวบ้านตุ๊กตาที่มีอุปกรณ์สำหรับผู้พิการที่ครบถ้วนรวมไปถึงทางลาดต่างๆ และรถเข็นสำหรับผู้พิการด้วย โดยชิ้นส่วนเหล่านี้มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสำหรับเด็กเพราะทำจากวัสดุทดแทนไม้ที่เรียกว่า MDF (Medium Density Fiber Board) แผ่นใยไม้อัดจากเศษฝุ่น เศษไม้ อัดกาวขึ้นรูปมีความหนาแน่นปานกลาง

เด็กๆ จะได้สนุกพร้อมทั้งเรียนรู้ผ่านทางการเล่น Doll houseโดยตุ๊กตาเป็นตัวแทนความพิการและชราภาพแบบต่างๆ มีทั้ง ตาบอด หูหนวก ผู้พิการทางสมอง แขนขาขาด และคนชรา นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนที่เป็นอุปกรณ์สำหรับผู้พิการแบบต่างๆ เช่น …. ไม้เท้าเดินสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งทุกอย่างใน Doll House เป็นแบบจำลองเสมือนจริง ซึ่งมีหลักการทำงานเหมือนกับของจริง

“Doll House เป็นสื่อในการสอนให้เด็กเกิดความตระหนักรู้และเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน เข้าใจความพิการ ความชราภาพของมนุษย์ และเกิด Empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) ขึ้นในจิตใจพวกเขา”

Doll House ความสนุกที่มาพร้อมกับการใช้ชีวิตร่วมกัน

ในชุดของเล่นจะมีคู่มือพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันกับผู้พิการและคนชรา รวมถึงแนะนำอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับผู้พิการว่าใช้อย่างไร

“หลายคนไม่ทราบว่าจะช่วยเหลือผู้พิการอย่างไร ทำให้ไม่กล้าให้ความช่วยเหลือ กลัวจะทำผิด หรือกลัวว่าจะเป็นการดูถูกดูแคลนพวกเขา อย่างเรื่องการข้ามถนน เราไม่ควรเดินเข้าไปจับและจูงมือเขาข้ามถนน แต่เราควรใช้หลังมือของเราแตะหลังมือของผู้พิการ แล้วเขาจะมาเกาะที่แขนเรา เพื่อให้เราพาเขาข้ามถนน” อาจารย์พรเทพ ยกตัวอย่างหลักสากลในการพาผู้พิการข้ามถนน

“หรือแม้แต่การใช้ชีวิตร่วมกับผู้สูงอายุ บ้านของ Doll House มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมาะกับผู้สูงอายุทำออกมาในรูปแบบของเล่นด้วย ทั้งวอคเกอร์ ไม้เท้า เตียงสำหรับผู้สูงอายุ เสาน้ำเกลือ หรือแม้กระทั่งแพมเพิส (ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับผู้พิการหรือผู้สูงอายุ) เรียกได้ว่าของเล่นชุดนี้มีทุกอย่างที่เกี่ยวกับการปลูกฝังเรื่องการใช้ชีวิต ความเท่าเทียมในสังคมกับตัวเด็กและผู้พิการ ผู้สูงอายุ”

อาจารย์พรเทพกล่าวว่าผลพลอยได้อีกอย่างของของเล่นชุดนี้คือความรู้และประสบการณ์การเรียนรู้ในการใช้อุปกรณ์ในการดำรงชีพของผู้พิการ ผู้สูงอายุ เพราะอุปกรณ์ทั้งหมดที่อยู่ในชุดของเล่น Doll House นั้นจำลองมาจากของจริง และจุดเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ที่มีความใกล้เคียงกับของจริง

Doll House เพื่อเล่น ไม่เน้นสอน

อาจารย์พรเทพเน้นว่าผู้ปกครองและครูจะต้องอ่านคู่มือพื้นฐานซึ่งมีวิธีการ ข้อแนะนำ ความรู้การใช้อุปกรณ์ และการให้ความช่วยเหลือผู้พิการให้เข้าใจ เพื่อจะแปลงนำมาสู่กระบวนการเล่นกับเด็กๆ ได้อย่างสนุกสนาน

“นี่เป็น “ของเล่น” เด็กๆ ต้องรู้สึกว่าพวกเขากำลังเล่นสนุก ไม่ใช่กำลังเรียน ผู้ปกครองและครูต้องเรียนรู้คู่มือก่อน แล้วถ่ายทอดให้เด็กโดยสอดแทรกข้อมูลไประหว่างการเล่น เช่น เบรลล์บล็อคมีไว้ทำอะไร เพื่ออะไร หรือ Ramp ทางลาดเพื่อสอนเรื่องการเดินของคนพิการ”

ผู้ปกครองหรือครูอาจให้เด็กๆ เล่น Doll House ตามจินตนาการได้ แต่จะดีกว่าผู้ใหญ่และเด็กๆ จะได้ใช้เวลาและเรียนรู้ไปด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้ชีวิตที่มาพร้อมกับการเล่นสนุกที่เหมาะสมกับวัยPrevious

“คนพิการไม่ได้ต้องการความสงสาร แต่ต้องการคนที่เข้าใจและได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม Doll House จะช่วยให้เด็กได้เล่นสนุกและเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือผู้พิการ การใช้อุปกรณ์สำหรับผู้พิการ และที่สำคัญคือการใช้ชีวิตร่วมกับผู้พิการและผู้สูงวัย”

Doll House เป็นของเล่นสื่อการเรียนรู้ที่สนุกและสามารถบรรจุสาระที่อยากปลูกฝังให้เด็กๆ ได้เป็นอย่างดี โดยในอนาคต อาจารย์พรเทพมีแนวคิดที่จะพัฒนา Doll House ให้เป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตไทยและพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นการสอดแทรกและปลูกฝังในเรื่องของความพอเพียงให้กับเด็กๆ

สำหรับผู้ที่สนใจ Doll House ติดต่อได้ที่อาจารย์พรเทพ สาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร 02-218-2565 ต่อ 5601

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Bangkokfocusnews.com ข่าวออนไลน์